อ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา

0

เที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ เยือนถิ่นชุมชนมอแกน ทริปนี้ดูเอเซีย.คอมยังคงท่องเที่ยวเก็บบรรยากาศ และภาพสวยๆ ณ หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงากันอยู่ค่ะ ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความโดดเด่นไม่แพ้ความสวยงามของน้ำทะเลสีคราม หาดทรายขาวนวลของหมู่เกาะสุรินทร์ นั่นก็คือ”หมู่บ้านชาวเล หรือ มอแกน”

มอแกน เป็นยิปซีทะเลที่ใช้ชีวิตร่อนเร่ อยู่ กลางทะเลอันดามันมาหลายชั่วอายุ อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน มีวิถีชีวิต มีภาษา และวัฒนธรรมที่ต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ก่อนเกิดสึนามิชาวมอแกนมักจะมีวิถีชีวิตที่เร่ร่อนอยู่ตามหมู่เกาะต่าง ๆ ระหว่าง ไทย-พม่า และหลงจากเกิดสึนามิ พัดถล่มบ้านเรือนของชาวมอแกนให้จมหายไปพร้อมกับบ้านเรือนของพี่น้องชาวใต้นับพันราย หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนั้น ซึ่งชาวมอแกนก็ได้รับการจัดหาพื้นที่ให้ใหม่สำหรับสร้างชุมชนของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน

   

ปัจจุบันหมู่บ้านของชาวมอแกนตั้งอยู่บริเวณหาดอ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ใต้ จังหวัดพังงา โดยมีประชากรประมาณ 300 คน แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวมอแกน ใช้ชีวิตเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่น ทำมาหากินอยู่ในบริเวณเขตทะเลอันดามัน ชีวิตส่วนใหญ่ของชาวมอแกนอาศัยอยู่บนเรือที่เป็นทั้งบ้านและพาหนะ พวกเขาเรียกว่า “ ก่าบาง ” ชาวมอแกนหากินกับทะเล งมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่างๆ ปัจจุบันชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์ยังใช้เรือหาปลาของพวกเขาสร้างรายได้เพิ่มเติม ด้วยการใช้รับส่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำชมความงามของปะการังในช่วงเวลาเปิดเกาะที่ปลอดจากฤดูมรสุมอีกด้วย

บ้านเรือนของชาวมอแกนอาจดูแปลกจากแต่ก่อนแต่ยัง คงเสน่ห์บ้านไม้ไว้อย่างกลมกลืน รวมถึงวิถีชีวิตที่ยังคงผูกพันอยู่กับท้องทะเลเช่นเดิม นอกจากจะได้เยี่ยมชมดูวิถีชิวิตชาว มอแกน แล้วอ่าวบอนยังมีแนวชายหาดที่ทอดยาวประมาณ 400 เมตร หาดทรายสีขาวลาดเอียงทีละน้อย แม้ว่า น้ำทะเลที่อ่าวนี้จะใส แต่ไม่เป็นที่นิยมเล่นน้ำ เพราะเป็นที่ตั้งชุมชน ทิศตะวันออกเป็นโขดหิน มีทิวทัศน์สวยงาม จึงเหมาะเดินชมวิวมากกว่าหลังจากเดินเที่ยวชมวิวแล้ว ก็สามารถซื้อของที่ระลึกจากชาวมอแกนได้ ส่วนใหญ่ จะเป็นเสื่อห่อพื้นบ้าน กำไลสาน กระติ๊บใส่ของ สินค้าส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือที่ทำขึ้นโดยชาวมอแกนโดยแท้

แม้ชาวมอแกนจะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย แต่….ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยเด็ก และคุณภาพชีวิตของชาวมอแกน จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ร่วมกันจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกน” ขึ้นโดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น ค่าตอบแทนครู สื่อ และอุปกรณ์ทางการศึกษา โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548

เด็กมอแกนคุ้นเคยกับทะเลตั้งแต่ยังเด็ก บางคนว่ายน้ำได้พร้อมๆ กับที่เดินได้ พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กเล็กๆ พายเรือเล็กเล่นโดยลำพังโดยไม่ต้องมีใครดูแล มอแกนมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินเรือ การดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลมและคลื่น รวมทั้งการว่ายดำน้ำและการทำมาหากินทางทะเล

มอแกน มีความรู้เกี่ยวกับป่าและพืชพรรณไม้ที่หลากหลายในป่าด้วย พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ในเดือนเมษายนของทุกปีกลุ่มมอแกนที่กระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงและในประเทศสหภาพพม่าจะมารวมตัวกันที่หมู่เกาสุรินทร์เพื่อประกอบพิธี “ลอยเรือ” บวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ถือได้ว่าชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด

การเดินทาง นั่งเรือหางยาวจากอ่าวช่องขาดใช้เวลา 15 นาที หรือจะมีเรือของชาวมอแกนคอยรับส่งนักท่องเที่ยวเพื่อพาไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนมอแกน

เชิญแสดงความคิดเห็น