งานมหาสมโภชน์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว 2555

0

limgonewo

ในบรรดาคุณธรรมทั้งหลายนั้น ความ “กตัญญูกตเวที” เป็นคุณธรรมสูงสุดอย่างหนึ่งที่ชาวจีนยกย่องและยึดถือปฏิบัติ ความกตัญญูในอันดับแรกนั้นก็คือความกตัญญูต่อบิดามารดาผู้ให้กำเนิด และด้วยความกตัญญูนี้เอง ก็ได้ทำให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ได้ออกเดินทางรอนแรมฟันฝ่าความยากลำบากเป็นระยะทางไกลโพ้นจากประเทศจีน มาตามหา ลิ้มโต๊ะเคี่ยม พี่ชายที่ออกเดินทางมาค้าขายที่เมืองกรือเซะ เพื่อนำตัวพี่ชายกลับไปพบมารดาที่เป็นห่วงและต้องการพบหน้าลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นอย่างมาก ก่อนออกเดินทาง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้ลั่นวาจากับมารดาไว้ว่า หากนำตัวพี่ชายกลับมาไม่ได้ จะไม่กลับมาให้เห็นหน้า จนเป็นที่มาของตำนานเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนในจังหวัดปัตตานีและประชาชนจำนวนมาก จวบจนปัจจุบัน

 

ในทุกๆปี ในวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติจีน ชาวจีนในจังหวัดปัตตานี จะร่วมกันจัดงานสมโภชเจ้าแม่หลี่มกอเหนี่ยว อย่างมโหฬารมาก และในปีนี้ ดูเอเซียดอทคอม ได้รับเกียรติจาก ททท ภาคใต้ เชิญเข้าร่วมงาน “กตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี ประจำปี 2555” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1-8 ก.พ. 2555 ณ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ซึ่งในปีนี้ ชาวจังหวัดปัตตานี ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ คณะของดูเอเซียได้ไปถึงศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียงในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 16:00 น.

 

ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ จ.ปัตตานีมาตั้งแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี ศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวเป็นศาลเจ้าชั้นเดียวแบบจีน แบ่งเป็นโถงกลาง ปีกขวา และปีกซ้าย โถงกลางแบ่งเป็นด้านนอกและด้านใน โถงกลางด้านนอกเป็นสถานที่ตั้งโต๊ะจำหน่าย ธูปเทียนและกระดาษทอง และ มีโต๊ะรับเงินทำบุญ และให้ยืมเงินขวัญถุง มีความเชื่อกันว่าถ้ายืมเงิน เจ้าแม่ฯเป็นเงินขวัญถุง จะทำให้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองการยืมเงินผู้ยืมต้องลงชื่อ และจ่ายเงินคืนเป็น จำนวน ๒ เท่าของเงินที่ยืม ภายในศาลเจ้าเป็นที่ประดิษฐานของเทพหลายองค์ เช่น พระหมอ หรือโจ๊วซูกง เป็นเทพประธานของศาลเจ้าแม่ฯ เจ้าแม่ทับทิม หรือหม่าโจ๊วโป่ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว น้องเจ้าแม่ฯ แป๊ะกง(องค์เจ้าที่) เจ้าพ่อเสือ หรือเฮี้ยงเทียนเซี่ยงตี่ หรือตั่วเล่าเอี๊ย เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู

 

ด้านหน้าศาลมีลานคอนกรีตขนาดใหญ่ ด้านข้างมีอัฒจรรย์ที่สร้างไว้ให้ประชาชนนั่งชมพิธีลุยไฟ ด้านตรงข้ามมีศาลาแบบจีนบริเวณลานดินแห่งนี้ เป็นที่ที่จัดกิจกรรมการแสดงต่างๆ จากน้องๆเยาวชนในจังหวัดปัตตานี ซึ่งแสดงถึงความผสมผสานกลมกลืนของวัฒนธรรมต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ทั้ง ไทย จีน อิสลาม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และลานแห่งนี้เอง จะเป็นที่ประกอบพิธีลุยไฟในพรุ่งนี้ บริเวณโดยรอบมีการเปิดร้านขายของประเภทต่างๆเรียงรายกันยาวไปตลอดถนนอาเนาะรู

 

สำหรับในวันนี้มีการเปิดศาลเชิญองค์เทพในแต่ละบ้านมาทำพิธีทอดเบี้ยเสี่ยงทายเวลาประกอบพิธีต่างๆในวันพรุ่งนี้ สำหรับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น เสด็จมาโดยประทับอยู่บนเกี้ยวขนาดใหญ่ลายมังกรทองประดับประดาด้วยผ้าสีดูยิ่งใหญ่มีพลังอำนาจเป็นที่น่าเคารพศรัทธาท่ามกลางประชาชนที่ห้อมล้อมสักการะและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ช่วงค่ำเป็นส่วนของพิธีเปิดงานมีการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองไฟอย่างยิ่งใหญ่เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้ามาร่วมงาน

 

เช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ดูเอเซียและคณะตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง เพื่อออกเดินทางไปยังสะพานเดชานุชิต สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีอันเป็นที่ประกอบพิธีแห่พระลอยน้ำ ซึ่งพิธีลุยน้ำนี้ไม่ใช่การแสดงอภินิหารแต่ประการใด แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปัดรังควาน ทำให้เกิดศิริมงคลต่อแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ของเมืองปัตตานี เพราะเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของเมืองปัตตานีในสมัยอดีต การแห่พระลุยน้ำในปีนี้ มีองค์พระทั้งสิ้น 25 องค์ นำโดยพระหมอ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทพต่างๆ แต่ละองค์ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ และธงประจำองค์ ประทับบนเกี้ยวที่มีผู้ชายสีคนหาม ผู้ที่จะหามองค์พระลุยน้ำได้ จะต้องเป็นผู้ที่ว่ายน้ำเป็น และมีร่างกายแข็งแรง

 

หลังจากพิธีหามพระลอยน้ำแล้ว จะมีการแห่องค์พระไปตามเส้นทางเศรษฐกิจของเมืองตานีในสมัยก่อน คือจากศาลเจ้าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลียบไปตามริมแม่น้ำตานี ระหว่างทาง โดยองค์เทพจะแวะตามบ้านของประชาชน ที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาหน้าบ้าน องค์เทพจะเข้าไปถึงภายในบ้าน ให้เจ้าของบ้านจุดธูปบูชาเป็นสิริมงคล บรรยากาศภายในเมืองเต็มไปด้วยเสียงประทัดและความปิติยินดีของชาวเมืองปัตตานี จากนั้นขบวนแห่ก็วนกลับมาที่ศาลเล่งจูเกียงและทำพิธีลุยไฟต่อไป

 

สำหรับพิธีลุยไฟ ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญที่สุด เป็นการลุยไฟเพื่อทำลายอาถรรพ์สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้ผู้หามเกี้ยวลุยไฟ และเป็นศิริมงคลแก่เมืองตานี เมื่อได้ฤกษ์ลุยไฟขบวนองค์พระทั้งหมดก็เดินเวียนรอบกองไฟทวนเข็มนาฬิกา ๓ รอบ แล้วออกไปรดน้ำมนต์ที่หน้าประตูศาลเจ้าฯ แล้วจึงลุยไฟ การลุยไฟเริ่มด้วยองค์พระหมอ สำหรับองค์เจ้าแม่ฯ นั้นจะมีงิ้วและมโนราห์เดินเกาะเกี้ยวเข้าลุยไฟด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าการลุยไฟของพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ผู้ที่ลุยไฟ จะก้าวเท้าย่ำลงไปบนกองไฟที่ลุกท่วมอย่างเข้มแข็งไม่ใช่เพียงแต่วิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความกล้าหาญอันโดดเด่นของลูกหลานชาวปัตตานี ซึ่งในพิธีลุยไฟนี้ 

 

แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานนับร้อยๆปี ชาวปัตตานีก็ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาและรักษาประเพณีอันดีงามนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ได้ช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานชาวปัตตานี มีความแข็งแกร่ง และกล้าหาญ ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม และปกป้องเมืองปัตตานีจากสิ่งชัวร้าย ให้เมืองปัตตานีเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่ง ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา

เชิญแสดงความคิดเห็น