เที่ยวชมมรดกโลกของไทย ที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

0

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ มีโบราณ สถานเก่าแก่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลก ในการประชุม ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย “ให้อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลก ” เพราะความงดงามอลังการของศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรสุโขทัย เป็นผลงานที่ล้ำเลิศของสถาปัตยกรรมไทยในยุคแรก และกรมศิลปากรได้อัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มาเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ เมื่อ 18 เมษายน 2534

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกร่วมกัอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง มีกำแพงเมืองล้อมรอบก่อด้วยศิลาแลงทำเป็นช่องเสมา มีโบราณสถานคือเมืองนครชุมและเมืองอรัญญิก เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ทั้งภายในเมืองและนอกเมือง มีโบราณสถานน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่โดยทั่ว โดยมีวัดพระแก้วและวัดพระธาตุ เป็นศูนย์กลางลักษณะเป็นวัดหลวงเกือบทั้งหมด เป็นพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ บริเวณนอกเมืองมีโบราณสถานอยู่ประมาณ 40 แห่ง โบราณที่สำคัญได้แก่ วัดพระนอน,วัดป่ามืด,วัดพระสี่อิริยบท,วัดฆ้องชัย,วัดนาคเจ็ดเศียร,วัดสิงห์,วัดกำแพงงาม,วัดเตาหม้อ,วัดช้างรอบและวัดอาวาทใหญ่ นับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ของเมืองกำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กําแพงเพชร มีโบราณสถานทั้งในเขตเมืองกําแพงเพชรและเมืองนครชุม  บริเวณภายในกําแพงเมือง มีโบราณสถาน 14 แห่ง ประกอบด้วยเนื้อที่ 503 ไร่ บริเวณอรัญญิกโบราณทางด้านทิศเหนือของกําแพงเมืองมีโบราณสถาน 41 แห่ง ประกอบด้วยเนื้อที่ 1,611 ไร่ บริเวณด้านทิศตะวันออกของกําแพงเมืองมีโบราณสถาน 13 แห่ง ประกอบบด้วยเนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน บริเวณทุ่งเศรษฐี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (เมืองนครชุม) มีโบราณสถาน 10 แห่ง ประกอบด้วยเนื้อที่ 30 ไร่ 5 งาน 

สถาปัตยกรรมเมืองกำแพงเพชร เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงก์ โดยมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย เช่นเดียวกับโบราณสถานในเมืองนครชุม ศาสนสถานเหล่านี้สร้างตามศิลปะสุโขทัย แต่มีอิทธิพลของล้านนา และอยุธยาเข้ามาปะปน เพราะกำแพงเพชรคือกึ่งกลางของล้านนากับอยุธยา เป็นผลให้ศิลปะที่ถูกผสมผสานนี้เรียกว่า ” สกุลช่างเมืองกำแพงเพชร ” แต่ที่มีพราหมณ์เข้ามาปนเช่นศาลพระอิศวร เพราะพุทธกับพราหมณ์นั้นแยกกันยาก แม้จะนับถือพุทธแต่เวลามีพิธีการต่าง ๆ ก็มีพราหมณ์ปน จึงเกิดศาลพระอิศวรขึ้น

ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีวัดที่สำคัญๆ ดังนี้

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่กลางเมืองกําแพงเพชร กําแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อน แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกําแพงเมืองสิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นพื้น กลางวัดมีเจดีย์กลม แบบลังกาเป็นประธาน

วัดพระธาตุ เป็นวัดใหญ่รองจากวัดพระแก้ว ตั้งอยู่ภายในกําแพงเมืองถัดจากวัดพระแก้วไปทาง ทิศตะวันออก มีเจดีย์เป็นประธานก่อด้วยศิลาแลงปนอิฐ โดยรอบเจดีย์และวิหารมีกําแพงศิลาแลงมีประตูสี่ด้าน ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบศิลปะกําแพงเพชร

วัดพระนอน วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบเขตของวัดมีแนว กําแพงศิลาแลงล้อมรอบ ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำ ที่อาบน้ำและศาลา สิ่งสำคัญของวัดนี้อยู่ที่วิหารพระนอน เสาวิหารศิลาแลงแท่งมหึมา ซึ่ง เสาวิหารหลังนี้ทั้ง 12 ต้น ตัดจากศิลาแลงก่อนเดียวขนาดกว่าง 1 เมตรเศษ ยาวประมาณ 6 เมตร น้ำหนักแต่ละต้น ประมาณ 30 ตัน

วัดช้างรอบ เป็นวัดใหญ่อยู่บนเนินสูง มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางฐาน ที่ฐานเจดีย์มีรูปช้าง ครึ่งตัวเห็นแต่สองขาหน้า หันศีรษะออกจากฐานรายรอบพระเจดีย์ ช้างเผือกปูนปั้น 68 เชือก วัดนี้มีกําแพงศิลาแลงอยู่ ศิลปะเป็นสมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าวัดพระยืน กําแพงเป็นศิลาแลงปัก ตั้งล้อม 4 ด้าน มีพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ คือ พระพุทธรูปนอน พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง โดยพระพุทธรูป 4 ด้านที่ยังเหลือสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มีเฉพาะพระพุทธรูปยืน

วัดสระแก้ว เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศเหนือ ระหว่างเส้นทางที่เข้าสู่เขตอรัญญิกของ เมืองกําแพงเพชร สิ่งก่อสร้างภายในวัดมีเฉพาะฐานอาคารขนาดใหญ่ที่เป็นอุโบสถเพียงหลังเดียว สร้างติดกับคลอง ส่งน้ำโบราณหรือที่เรียกว่าคลองท่อทองแดง เดิมจะมีคูน้ำล้อมรอบหรือที่เรียกว่าอุทกสีมา โดยน้ำจากคลองท่อ ทองแดงจะไหลเวียนรอบฐานอุโบสถ

วัดฆ้องชัย ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระสี่อิริยาบถ สิ่งก่อสร้างภายในวัดวางแนว ตามแกนตะวันออก ตะวันตก เช่นเดียวกับวัดอื่นๆมีกําแพงวัดเฉพาะด้านตะวันตกและด้านใต้เพียงสองด้านเท่า นั้นนอกกําแพงวัดด้านทิศตะวันตกปรากฏบ่อตัดศิลาแลงขนาดใหญ่

วัดสิงห์ อยู่ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกําแพงศิลาแลงโดยรอบทั้ง 4 ด้าน

กำแพงเพชรเปิดทำการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์หมายเลขเวลา 08.00-17.00 น โทรศัพท์ : (055) 7119210, 5571 2528

อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท : ชาวต่างประเทศ 100 บาท

อัตราค่ายานพาหนะ: รถจักรยานสองล้อ 10 บาท/คัน, รถจักรยานยนต์ 20 บาท/คัน, รถจักรยานสามล้อ 20 บาท/คัน, รถจักรยานยนต์สามล้อ 30บาท/คัน, รถยนต์ทุกชนิด 50 บาท/คัน

อุทยานประวัติศาสตร์กําแพงเพชร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตามทางหลวงหมายเลข 101 ถึงหลัก กม.ที่ 360 เลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ

การเดินรทางไปอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรไปวัดทางเข้าตั้งอยู่นอกเมืองกำแพงเพชรไปประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายกำแพงเพชร – พรานกระต่าย แล้วเลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 360

ขอบคุณภาพ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

เชิญแสดงความคิดเห็น