หุบป่าตาด

0

วันนี้ดูเอเซียดอทคอมรับหน้าที่อาสาพาไปเที่ยวสวนผักไดโนเสาร์ อย่าเพิ่งงงกันนะครับ เพราะสถานที่ที่เรากำลังจะพาไปชมนี้ มันคือสวนผักของไดโนเสาร์ของจริง เพราะมันคือป่าดึกดำบรรพ์ สถานที่ท่องเที่ยวที่ซ่อนตัวอยู่อย่างลึกลับ ป่าแห่งนี้เต็มไปด้วยปาล์มโบราณและต้นไม้ใหญ่ สมชื่อป่าดึกดำบรรพ์จริงๆนะครับ แล้วสงสัยมั้ยครับว่าทำไมเราถึงได้เรียกมันว่าสวนผักไดโนเสาร์ นั่นก็เพราะว่ามีการสันนิษฐานว่าต้นตาดหรือปาล์มโบราณที่พบและหลงเหลืออยู่แห่งเดียวของประเทศไทย เคยเป็นอาหารของบรรดาไดโนเสาร์ในยุคจูราสสิคมาก่อน

หุบป่าตาดเป็นส่วนหนึ่งของเขาห้วยโศกซึ่งเป็นบริวารของเขาปลาร้าอีกทีนะครับ การจะเข้าไปหุบป่าตาดนั้นจะต้องเดินขึ้นบันไดและลอดถ้ำเข้าไปก่อนประมาณ 100 เมตร หากคุณไปเที่ยวเราแนะนำให้เตรียมไฟฉายส่วนตัวไปด้วยก็จะดีครับ ถึงแม้จะมีคนนำทางแต่ก็เตรียมไว้เผื่อฉุกเฉิน เพราะในถ้ำมืดมาก ไม่มีการติดหลอดไฟเหมือนที่อื่น อันนี้ดูเอเซียชอบมากๆ เพราะปล่อยไปตามธรรมชาติ กระซิบบอกกันนิดนึงนะครับว่า หากใครเดินทางไปเที่ยวในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ท่านก็จะได้พบกับเด็กตัวเล็กๆลูกหลานชาวบ้านระแวกนั้น มาทำหน้าที่เจ้าบ้านน้อยคอยยืนส่องไฟฉายนำทางไปยังหุบป่าตาด และให้ข้อมูลการท่องเที่ยวได้อย่างน่ารักน่าชัง พอลอดถ้ำออกมาท่านก็จะพบกับผืนป่าสีเขียว ต้นไม้น้อยใหญ่ แต่ที่เป็นไฮไลท์ก็คือ “ต้นตาด” หรือ “ต๋าว” (Areaga penata) นั่นแหละครับ เพราะที่นี่มีต้นตาดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อ “หุบป่าตาด” ซึ่งต้นตาดนี้เป็น พันธุ์ไม้ที่มีลักษณะคล้ายต้นปาล์ม ใบเป็นแฉกแผ่กว้าง มีลูกออกมาเป็นทะลาย กลมๆ เล็กๆ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นบอกว่าลูกอ่อนๆ สามารถนำ ไปต้มกินได้และยังมีให้เห็นที่นี่เพียงที่เดียวในประเทศไทย

ไฮไลท์อีกจุดที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งเมื่อมาเยือนหุบป่าตาด ด้านในสุดจะมีโพรงถ้ำ ที่ราวกับว่าพอเดินผ่านแล้วเหมือนกำลังจะเข้าประตูข้ามมิติไปยังอีกโลกหนึ่ง คล้ายๆเวลาเราดูหนังหรือละครหลงป่า ข้ามมิติประมาณนั้นนะครับ ที่นี่สวยงาม เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยรูปร่างต่างๆ ที่ถูกส่องกระทบด้วยแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดความงามที่มีมิติขึ้นมา พูดมากเดี๋ยวจะหาว่าเราโม้ หากอยากรู้อยากสัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้ ต้องลองแวะเวียนไปเที่ยวดูนะครับ

นอกจากนี้ ยังมีกิ้งกือมังกรสีชมพูให้พบเห็นอีกด้วย แต่อาจจะหาพบยากสักหน่อย กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นกิ้งกือมังกรที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก  ค้นพบโดยนักสำรวจสมัครเล่น กลุ่ม siamensis.org ซึ่งต่อมาได้แจ้งให้ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และคณะทราบ  เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2550 บริเวณป่าเขาหินปูนแถบภาคกลางตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่าง กิ้งกือมังกรสีชมพูจัดในวงศ์กิ้งกือมังกร มีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิงพิงก์ (shocking pink) มีปุ่มหนามคล้ายมังกร เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรูธรรมชาติ

 

เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้จริงๆนะครับ ใครที่ชอบท่องเที่ยวต้องหมั่นอัพเดตข้อมูลและเรื่องราวดีๆจากดูเอเซียดอทคอม อยู่เสมอนะครับ ว่าคราวหน้าเราจะพาไปเที่ยวที่ไหน พาไปกินอะไร อย่าลืมติดตามนะคร้าบบบบบ

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนการท่องเที่ยว 1672

ขอบคุณภาพ www.autoinfo.co.th

เชิญแสดงความคิดเห็น