ส่องกระทิงดูผีเสื้อที่ตาพระยา

0

ชื่อ “ตาพระยา” เราจะได้ยินชื่อเสียงเมื่อยุคหนึ่งที่มีเหตุการณ์สู้รบตามชายแดนที่ตาพระยา (เดิมอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาอยู่ในจังหวัดสระแก้ว) จนเกิดวีรบุรุษที่เรืองนามท่านหนึ่ง ทุกวันนี้ชายแดนด้านอรัญประเทศ เราจะรู้จักตลาดโรงเกลือชายแดนไทย-เขมร มีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง อย่างเช่น น้ำตกปางสีดา ปราสาทสด๊กก๊กธม มีอุทยานแห่งชาติตาพระยาที่ยังไม่มีใครได้รู้จักมักคุ้นเท่าไหร่นัก

แต่ชื่อเสียงของอุทนยานแห่งชาติตาพระยา นั้นอยู่ที่ “กระทิง” เป็นกระทิงป่าที่ออกหากินตามทุ่งหญ้า สามารถได้เห็นอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในรูปแบบเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ อย่างไรก็ตามอุทยานแห่งชาติตาพระยาก็ยังด้อยในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากขาดแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบยอดนิยม อย่างเช่น น้ำตก จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก หรือทะเลหมอก จึงทำให้อุทยานฯ แห่งนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวมากนัก

วันนี้เราขอลองไปดูบ้างว่า อุทยานแห่งชาติตาพระยามีอะไรน่าเที่ยวบ้าง โดยตั้งความหวังไว้ที่ฝูงกระทิงป่า โอกาสที่จะพบเห็นได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งเรื่องแหล่งอาหาร ทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ และดินโป่ง โดยจุดชมกระทิงนั้นจะเป็นทุ่งหญ้าที่อยู่ในป่าลึก

การเดินทางของเราได้แวะเที่ยวชม “ละลุ” ปรากฏการณ์ธรรมชาติของแผ่นดินที่เกิดจากการทรุดตัว และถูกน้ำกัดเซาะ จนทำให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ที่สวยงามแปลกตา เช่นเดียวกับแพะเมืองผี ที่แพร่ หรือเสาดินนาน้อย จ.น่าน

“ละลุ” ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ริมเชิงเขา ในพื้นที่บางส่วนจะเป็นทุ่งนาของชาวบ้าน ส่วนบริเวณละลุก็กระจายไปเป็นบริเวณกว้าง จึงกลายเป็นท่องเที่ยวที่งดงามแปลกตา

เราเดินทางจาก อ.ตาพระยา ไปตามเส้นทางหลวงสาย 348 มุ่งหน้าไป อ.โนนดินแดง บุรีรัมย์ จนถึงช่วงกม.22 จะเป็นบริเวณที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติตาพระยา ติดต่อสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องกระทิงแล้ว ก็ได้รับความกระจ่างชัด โดยเราต้องเข้าไปยังหน่วยกลางดง จะมีทางแยกก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ เล็กน้อย เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังหน่วยกลางดง ก็ประมาณ 13 กม.

สภาพเส้นทางเข้าไปยังหน่วยกลางดง เป็นทางลูกรังค่อนข้างดี ทางราบ รถเก๋งเข้าไปได้ สองข้างทางเป็นป่าเบญจพรรณ บางช่วงของเส้นทางเราจะพบร่องรอยกระทิงเดินตามถนน และยังได้พบกับฝูงผีเสื้อที่เกาะกลุ่มดูดน้ำดูดแร่ธาตุเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ มีหลากหลายชนิด รวมแล้วเกือบร้อยตัว เราก็ถือโอกาสย่องเข้าไปถ่ายภาพ  บางจังหวะฝูงผีเสื้อจะบินกระจายอย่างสวยงาม ก็จะเป็นภาพธรรมชาติที่เราสมารถพบเห็นได้ตลอดเส้นทาง

ระหว่างทางบางช่วงเราจะพบหนองน้ำ อันเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระทิงที่ต้องกินน้ำ หากเป็นช่วงหน้าแล้ง แหล่งน้ำในป่าไม่มี สัตว์ป่าก็ต้องออกมากินน้ำที่หนองน้ำดังกล่าว จนกระทั่งมาถึงทุ่งกระทิง ตั้งอยู่ริมถนน เป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ มีป่าดงใหญ่โอบล้อม จะมีหอดูสัตว์สร้างไว้ริมถนน ไว้สำหรับดูสัตว์ป่าลงมากินหญ้าที่ทุ่งแห่งนี้ จากนั้นอีกไม่ไกลนักเราก็มาถึงหน่วยกลางดง เดิมทีเป็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติตาพระยา ต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งริมถนนใหญ่ ที่เก่าก็เป็นหน่วยย่อยขึ้นมา ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งบ้านพัก ลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

จ้าหน้าที่อุทยานฯ อัธยาศัยดีให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง สอบถามเรื่องกระทิงแล้ว เราต้องไปส่องดูกระทิงในช่วงตอนกลางคืน โดยต้องมีเจ้าหน้าที่นำพาไป ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระทิงโดยตรง เพราะแหล่งกระทิงที่หากินนั้นอยู่ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำ

ประมาณสองทุ่ม เราได้เตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพ ด้วยเลนส์ช่วง 80-200 มม. พร้อมแฟลช เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้นำเราขึ้นรถออกไปตามเส้นทางถนน ย้อนไปยังทุ่งกระทิง ระหว่างทางก็พบกับความว่างเปล่า ปราศจากดวงไฟจากดวงตาที่สะท้อนไฟสปอร์ตไล้ท์ จนมาถึงทุ่งกระทิง เราก็ได้ดวงไฟสะท้อนแสงอยู่ท่ามกลางความมืด มันก็คือ ดวงตาของกระทิง

แน่นอนครับ เจอแล้ว กระจายอยู่ตามทุ่งหญ้า กำลังกินหญ้าอย่างเพลิดเพลิน ระยะห่างไม่มากนัก แสงไฟส่องถึง จนเห็นได้ชัด ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ และลูกน้อยที่คอยติดตามแม่ตลอดเวลา

นี่คือ ภาพธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง ฝูงกระทิงออกหากินตามธรรมชาติ สังคมของกระทิงที่รวมเป็นฝูงใหญ่ จะมีจ่าฝูงเป็นตัวผู้ที่มีสาวๆ ในฮาเล็มหลายตัว หากกระทิงตัวผู้ตัวใดที่เจริญวัยเต็มที่ ก็อาจเข้ามาแย่งชิงจ่าฝูง ถึงขั้นต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงเป็นผู้นำ หากตัวใดพ่ายแพ้ก็ถูกขับออกจากฝูง กลายเป็นเจ้าโทนที่ออกหากินเพียงตัวเดียว และพยายามกลับมาแย่งชิงความเป็นใหญ่อีกครั้ง

นี่แหล่ะครับ ธรรมชาติที่สมบูรณ์ของป่าไม้เมืองไทย ยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างสงบสุข  และยังมีหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าดูแลเป็นอย่างดี พร้อมกับนำเอาระบบการจัดการเข้ามาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เราสามารถพบเห็นฝูงกระทิงได้ง่ายขึ้น เช่น

–  ที่หน่วยคลองปลากั้ง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

–  เขาแผงม้า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

–  ทุ่งบุตาปอด อุทยานแห่งชาติปางสีดา

–  อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะกฎหมายการอนุรักษ์เข้มข้น ชาวบ้านให้ความสนใจด้านการอนุรักษ์มากขึ้น มีการนำเอาระบบการจัดการหลายๆ ด้านเข้าทำงานร่วมกับการอนุรักษ์จึงทำให้สัตว์ป่าอย่างกระทิงจึงพบได้ง่ายและมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปีฝูงกระทิงที่เราพบกลางทุ่งกระทิง มีอยู่ประมาณ 10 ตัว แต่อาจมีมากกว่านี้ บางตัวอาจอยู่ใกล้ๆ ไม่ห่างนัก คือ เจ้ากระทิงโทน เป็นกระทิงหนุ่มที่ถูกขับออกจากฝูง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้พยายามส่องหากระทิงในบริเวณแหล่งน้ำอื่นๆ และตามบริเวณเส้นทางถนนซึ่งก็ได้พบแต่เก้งอยู่ตัวเดียว ไม่เจอกระทิงเพิ่มเติม เมื่อย้อนกลับมาที่ทุ่งกระทิง ปรากฏว่าฝูงกระทิงได้หลบเข้าชายป่าไปแล้ว

อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกแห่งหนึ่งที่เราไม่คิดมาก่อนว่ายังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์เช่นนี้ ต่อไปกระทิงจะลายเป็นจุดเด่นเรื่องท่องเที่ยวที่ควบคู่กับอนุรักษ์ที่เราทุกคนช่วยกันดูแลรักษาให้ยั่งยืนกันต่อไป

การติดต่อ

อุทยานแห่งชาติตาพระยา โทร.037-556-667

เชิญแสดงความคิดเห็น