วัดสังกัสรัตนคีรี ยอดเขาสะแกกรัง

0

ปีนบันได 449 ขั้น สู่ยอดเขาสะแกกรัง นครแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิต อุทัยธานี

watsangkatrattanakiri

อุทัยธานีดินแดนมรดกโลกที่ยังคงมนต์เสน่ห์แห่งความสุขของผู้คนและมีความหลากหลายของวิถีชีวิต ที่มีทั้งชาวไทย จีน ลาวครั่ง และกะเหรี่ยงโป  ที่มีทั้งชุมชนเรือนแพ  ชุมชนบนฝั่ง ชาวสวนบนเกาะเทโพ แม้จะต่างวิถีต่างวัฒนธรรมแต่ก็สามารถหลอมรวมผสมผสานจนกลมกลืนกันได้จนเป็นเอกลักษณ์ของเมืองแห่งนี้ ที่ยังคงมีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาที่มียอดเขาสะแกกรังซึ่งเป็นศูนย์กลาง ทั้งทางด้านศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองอุทัยธานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

watsangkatrattanakiri (1) watsangkatrattanakiri (6)

ทริปนี้เราพา ขึ้นบันได 449 ขั้น สู่ยอดเขาสะแกกรัง ซึ่งมีวัดที่สำคัญคือ วัดสังกัสรัตนคีรี ที่ประดิษฐานพระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี คือพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์  และบนยอดเขาสะแกกรังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองพร้อมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1 เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพระชนกจักรี หรืออุทัยธานีนครแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

 

จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง สภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ควรค่าแก่การดูแลรักษาและนำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทุกคน  ดินแดนบางส่วนพบหลักฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง ได้แก่เมืองโบราณบึงคอกช้างในสมัยทวารวดี เมืองโบราณบ้านใต้ เมืองโบราณบ้านคูเมือง และเมืองโบราณการุ้ง    ชื่อเมืองเรียกเพี้ยนเป็น  เมืองอุไทย  ตามสำเนียงชาวกะเหรี่ยงและมีฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านชั้นนอกสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนที่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังมากขึ้น และได้กลายเป็นที่ตั้งของตัวเมืองอุทัยธานีในปัจจุบัน

วิวจากยอดเขาสะแกกรัง watsangkatrattanakiri (11) watsangkatrattanakiri (12) watsangkatrattanakiri (13)

เขาสะแกกรังเป็นภูเขาที่ตั้งกั้นเมืองอุทัยอยู่ทางทิศตะวันตกก่อนที่จะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เหมือนดั่งเป็นร่มเงาให้กับจังหวัดอุทัยทั้งจังหวัด แต่เดิมเรียกกันว่าเขาแก้ว บริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญของจังหวัด คือวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2443  ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเมืองอุทัยมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ชาวเมืองต่างให้ความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังใหม่ฝั่งตรงข้ามบันไดทางขึ้นยอดเขาสะแกกรัง

 

พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปหล่อเนื้อสำริดขนาดใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3  ศอก สร้างในสมัยพระเจ้าลิไทย ฝีมือช่างสุโขทัย ส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์ เข้าใจว่ามีการซ่อมแซมให้เป็นองค์เดียวกันก่อนที่จะนำมายังเมืองอุทัย  มีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1โปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ  เมืองอุทัยธานีได้ รับ 3 องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาขึ้นที่ฝั่งที่ ท่าพระ และนำขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดขวิด มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่( คือพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน)  อยู่ที่ วัดขวิด ต่อมาเกิดไฟไหม้เมืองอุทัยธานีวัดขวิดถูกยุบ รวมกับวัดทุ่งแก้ว และได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรีแห่งนี้  และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียรพร้อมกับถวายนามว่า พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ จนเป็นชื่อเรียกมาจนถึงปัจจุบัน

watsangkatrattanakiri (15)watsangkatrattanakiri (21)watsangkatrattanakiri (22)watsangkatrattanakiri (31)watsangkatrattanakiri (9) watsangkatrattanakiri (5) watsangkatrattanakiri (7)

บริเวณวิหารพระพุทธมงคลศักดิ์เป็นลานขนาดใหญ่ จัดให้เป็นที่จอดรถสะดวกสบาย  ด้านข้างวิหารเป็นศาลาขนาดใหญ่มีจุดบริการดอกไม้ธูปเทียนบูชา และใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนสำหรับคนที่เข้ามานมัสการพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชนคนทั่วไปเข้ามากราบไหว้ขอพรพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ เป็นจำนวนมาก ในทุก ๆวัน เป็นพระพุทธรูปที่มาอุทัยแล้วก็ต้องเข้าไปนมัสการกราบไหว้ครับ หลังจากกราบไหว้ขอพรแล้วก็ต้องขึ้นไปตีระฆังศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาสะแกกรังอีกหนึ่งอย่าง ชาวอุทัยบอกว่า ถ้ามาอุทัยแล้ว ไม่ไปชมเรือนแพ ไม่มาไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์และไม่ขึ้นไปตีระฆังบนยอดเขาก็เหมือนมาไม่ถึงอุทัยธานีครับ

 

ยอดเขาสะแกกรังเป็นดินแดนที่ชาวอุทัยยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางขึ้นสู่ยอดเขาสะแกกรังขึ้นไปได้สองทาง คือทางรถยนต์ และจากบริเวณลานวัดจะมีบันได 449 ขั้นตัดตรงขึ้นสู่ยอดเขาสะแกกรัง  บนเขาสะแกกรังมีศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่ง  คือพระมณฑปทรงไทยสวยงามมีนามว่าสิริมหามายากุฎาคาร ซึ่งที่บนนี้เขาเปรียบให้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาที่เมืองกัสนคร และกลายมาเป็นชื่อวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งสมมุติให้วัดเป็นกัสนคร ภายใน มณฑป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ด้านหน้ามณฑปมีระฆังใบใหญ่ตั้งอยู่  พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 ถือกันว่าเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครที่ไปเที่ยวอุทัยธานีแล้วไม่ได้ขึ้นไปตีระฆังใบนี้ก็เหมือนมาไม่ถึงอุทัยธานีครับ

รัชกาลที่ 1 watsangkatrattanakiri (26)watsangkatrattanakiri (24) 

บนยอดเขาสะแกกรังด้านทิศเหนือพระมณฑป เป็นพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนามเดิมว่านายทองดี รับราชการตำแหน่งพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย และต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมนายทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดาเป็นสมเด็จพระชนกธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2338 เมืองอุทัยถือว่าเป็นเมืองต้นราชวงศ์จักรี

 

พระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริงประทับนั่งบนแท่นพระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย และทรงวางพระหัตถ์ขวาบนพระเพลาขวา ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า (ขนนก) สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้นพระบาท มีพิธีถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือดอกฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดบานสะพรั่งอยู่บนเขาสะแกกรังสวยงามมาก ๆ ใครที่อยากร่วมในพิธีก็เชิญได้เลยตรวจสอบวันเวลาให้แน่นอนก่อนการเดินทางครับ

 watsangkatrattanakiri (32) watsangkatrattanakiri (33) watsangkatrattanakiri (34) watsangkatrattanakiri (35) watsangkatrattanakiri (3) watsangkatrattanakiri (16)

บนยอดเขาสะแกกรัง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เมืองอุทัยธานีได้อย่างกว้างขวางสวยงาม และด้านทิศตะวันตกสามารถมองเห็นวิวสวย ๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้อีกด้วย และถ้าเราขึ้นมาบนยอดเขาโดยทางบันไดเราก็จะได้เดินศึกษาธรรมชาติไปได้ด้วยอีกกิจกรรมหนึ่ง บนยอดเขาอากาศดีมาก ๆ มีจุดนั่งพักผ่อนชมวิวหลายจุดและมี ศาสนสถาน ที่ให้เข้าไปไหว้พระทำบุญหลายแห่ง ทั้งวิหารพระพุทธรูปสำคัญ วิหารพระบรมสารีริกธาตุ  ศาลเจ้าจีน  เป็นต้น   มีจุดบริการอาหารเครื่องดื่มและของฝากของที่ระลึกอีกหลายอย่างหลังจากทำบุญกันแล้ว ก็เชิญแวะซื้อหากันได้เลยครับราคาไม่แพง

 

เนื่องมาจากยอดเขาสะแกกรังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และวัดสังกัสรัตนคีรีเป็นวัดสำคัญ ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี ชาวอุทัยธานี จะจัดงานประเพณี ตักบาตรเทโว โดยจะจัดงานจำลองเหตุการณ์  คล้ายในพุทธประวัติมากที่สุด มีพระสงฆ์ ทุกรูปที่จำพรรษา อยู่ในอำเภอเมืองอุทัย เดินลงจากยอดเขาสะแกกรังทางบันได  เป็นภาพที่สวยงามมาก ๆเหมือนดังในพุทธประวัติ และในทุก ๆ ปี มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากทั้งชาวอุทัยธานีและคนทั่วไปเดินทางมาทำบุญกันอย่างคับคั่ง ใครที่ต้องการไปร่วมในพิธีทำบุญก็เชิญได้เลยครับ ตรวจสอบวันเวลาที่แน่นอนก่อนการเดินทาง งานเขาจัดใหญ่ทุกปี

 

การเดินทางมาเที่ยวเมืองอุทัย นอกจากที่เราจะได้ขึ้นเขาสะแกกรังดินแดนศักดิ์สิทธิ์แล้ว จังหวัดอุทัยยังมีที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุด อาทิ ล่องเรือชมวิถีชีวิตชุมชนเรือนแพแห่งเดียวในเมืองไทย ,วัดจันทาราม (วัดท่าซุง),วัดอุโบสถาราม,วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม,เกาะเทโพ,พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น เดินทางเที่ยวได้แบบสบาย ๆเพราะอยู่ในตัวเมืองทั้งหมดครับ

เขาสะแกกรังวัดสังกัสรัตนคีรี ตั้งอยู่ที่ สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี  เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนเย็น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 056-512916,056-520826 สอบถามข้อมูลก่อนการเดินทางครับ

 

การเดินทางมายังอุทัยธานี  เดินทางทางรถยนต์จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปอุทัยธานีได้หลายเส้นทาง ได้แก่

  1. จากถนนพหลโยธินผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาลงแพขนานยนต์ ที่อำเภอ มโนรมย์ ผ่านวัดท่าซุง (วัดจันทาราม) ศาลากลางจังหวัด เข้าตลาดอุทัยธานี รวมระยะทาง ประมาณ 305 กิโลเมตร
  2. จากทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 333 แยกท่าน้ำอ้อยบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้า โรงพยาบาลเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร
  3. เริ่มต้นจากถนนสาย 32 เช่นกัน เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 30 (อยู่ในเขตจังหวัดอยุธยา)เลี้ยวซ้ายเข้าทาง หลวงหมายเลข 334 และจากนั้น  เข้าทางหลวงหมายเลข 309 ไปตามเส้นทาง ข้ามสะพานจังหวัดอ่างทอง จากนั้นมาตามถนนสาย311ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดชัยนาทที่อำเภอสรรพยา จากนั้นเลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 3183 เข้าจังหวัดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 283 กิโลเมตร

 

เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง  มีบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-อุทัยธานีทุกวัน จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 กิโลเมตร 11 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศตั้งแต่เวลา04.30-17.50 น.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2936 2852 – 66 สถานีเดินรถอุทัยธานี โทร. 0 56511914, 0 56512859, 0 56511058

อุทัยธานีถือเป็นนครแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยังคงมนต์เสน่ห์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ผู้คนชาวเมืองมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายสงบสุข และมั่งคงไปด้วยความน่ารักสามัคคีรักใคร่กลมเกลียว  เป็นจังหวัดหนึ่งที่เต็มไปด้วยความสวยงามทั้งทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่น่าเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นอย่างมากครับ   ดังคำขวัญของจังหวัดที่กล่าวว่า  ถึงอุทัย ฯ ไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วนอนที่เมืองอุทัย  หากเพื่อน ๆ  อยากสัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นที่เรียบง่ายแต่เป็นเอกลักษณ์มีเสน่ห์ในตัว  มาเยือนเมืองอุทัยธานีแล้วไม่ผิดหวังครับ หรือถ้าอยากทำบุญไหว้พระคู่เมืองก็เข้าไปที่วัดสังกัสรัตนคีรีและเขาสะแกกรังได้เลยครับ 

เชิญแสดงความคิดเห็น