วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดประจำวังแห่งอณาจักรกรุงศรี

0

พระอารามหลวง ถ้าเป็นยุคปัจจุบันนี้ เราต้องหมายถึง วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีศาสดาราม ที่กรุงเทพมหานคร แต่หากจะย้อนเวลาไปยุคก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ พระอารามหลวง ต้องหมายถึง วัดพระศรีสรรเพชญ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา พูดภาษาง่ายๆก็คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์แห่งนี้ เปรียบเสมือนเป็นวัดต้นแบบของการสร้างวัดประจำพระราชวัง(วัดพระแก้ว) ซึ่งวัดแห่งนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย,วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ “สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2035 รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2042 พระองค์ก็ทรงให้สร้างพระเจดีย์องค์ต่อมา ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์กลาง เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระบรมเชษฐาธิราช

ในปีต่อมา พ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูป ยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร)หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งภายหลังเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด และองค์พระพังยับเยิน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาประดิษฐานวัดพระเชตุพน และ บรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์สรรเพชญดาญาณ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารทิศ เจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาจากด้านทิศตะวันตกเป็น เจดีย์บรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง พระที่นั่งจอมทอง ตั้งอยู่ใกล้ๆ กำแพงทางด้านติดกับ วิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์

ราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวงแห่งนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าได้ดำเนิน การขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูป เครื่องทองคำมากมาย และในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะวัดนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ภายในวันที่เราได้ไปเที่ยวชม สภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆยังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มองๆดูรอบๆแล้ว อดไม่ได้ที่จะนึกจินตนาการถึงภาพภายในบริเวณที่แห่งนี้ในเมื่อครั้งอดีต ที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ วัดแห่งนี้คงจะยิ่งใหญ่และสวยงามเป็นอย่างมาก เพราะที่นี่คือพระอารามหลวง หรือวัดประจำพระราชวัง นี่หากเมื่อครั้งนั้นไม่ถูกพม่าทำลายลงไป หลายๆสิ่งหลายๆอย่างคงจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากกว่านี้ ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่เรามองเห็นในตอนนี้ หลายๆส่วนได้รับการบูรณะซ่อมแซมแล้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นหลังๆได้มาชม

หากแต่การมาเที่ยวชมวัดแห่งนี้(รวมไปถึงในบริเวณบางส่วนของพระราชวังโบราณ) ในครั้งนี้ ดูเอเซีย่ได้มองเห็นซากปรักหักพังที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เกิดความสะเทือนใจบางอย่าง เพราะสิ่งที่เห็นอยู่นี้คื่อเศษซากที่เกิดขึ้นจากความโลภของคนๆเดียว ที่เห็นแก่ตัว-เห็นแก่ได้จึงทรยศบ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง ทำให้เราต้องเสียกรุงไปในครั้งแรก แต่สุดท้ายก็ชดใช้กรรมอย่างสาสม เพราะการกระทำของตัวเอง และการเสียกรุงในครั้งที่สอง ก็เกิดขึ้นเพราะการแย่งชิงผลประโยชน์กันเอง ของเหล่าขุนนาง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ และพ่ายแพ้ต่อข้าศึกที่มารุกราน คิดๆแล้วมันสะท้อนภาพอะไรบางอย่างในยุกนี้

เอาล่ะครับ..ผ่อนคลายกันสักหน่อยดีกว่า.. หลายๆคนที่มาเที่ยว หากเป็นคนช่างสังเกตุ จะเห็นว่าภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์(รวมไปถึงภายในพระราชวังโบราณ) ต้นไม้มีแต่ต้นพุทรา สงสัยมั๊ยล่ะว่า ทำไมในที่แห่งนี้จึงมีต้นพุทราอยู่จำนวนมาก เอาละครับ ดูเอเซียได้ค้นหาคำตอบมาให้แล้วครับ (เพราะตัวดูเอเซียเองก็สงสัยเหมือนกัน)

พระภาวนาวิสุทธิคุณ (จรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้เล่าตำนานกำเนิดต้นพุทราว่า ตอนที่สมเด็จพระนเรศวร และพระอนุชาพระเอกทศร ยกทัพไปป้องกันกองทัพพม่าที่ยกมาถึงดอนเจดีย์ ช้างทรงทั้งสองพระองค์ ตกมันแผลงฤทธิ์บุกทลวงเข้าไปในวงล้อมกองทัพพม่าเพียงลำพัง แต่ด้วยพระบุญญาธิการ และพระสติปัญญาไหวพริบ สมเด็จพระ นเรศวรทรงเจรจาให้พระมหาอุปราช กระทำยุทธหัตถีตัวต่อตัวเพื่อไม่ต้องเสียเลือดเนื้อไพร่พลและเพื่อเป็นพระเกียรติสืบต่อไป ในภายหน้า พระมหาอุปราชทรงตอบตกลงด้วยขัตติยมานะ ช้างทรงสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งกำลังตกมันก็พุ่งตรงเข้าไปเสียทีถูกช้าง ทรงพระมหาอุปราชเสย พระมหาอุปราชทรงฟันด้วยพระแสงทันที สมเด็จพระนเรศวรทรงหมอบหลบทัน พระมาลาเบี่ยงขาดลิไป ฉับพลันช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรสบัดหลุดได้ล่าง สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวที่พระศอสะพายแล่ง ช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรช่วยดึง จึงเสียหลักช้างทรงจะล้ม พระมหาอุปราชอุปราชสิ้นพระชนม์บนคอช้างทันที ถ้าช้างทรงสมเด็จ พระนเรศวรล้ม จะเสียที่ทหารพม่าแต่ช้างถอยหลังไปโดนต้นพุทรา ต้นพุทราจึงมีบุญคุณที่ช่วยให้รอดพระองค์รอดชีวิต พระองค์จึง โปรดให้นำต้นพุทรานี้มาปลูกในบริเวณพระราชวังหลวง ด้วยเหตุนี้จึงมีต้นพุทรามากมายตราบจนทุกวันนี้ในพระราชวังโบราณกรุงศรีอยุธยา

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0 3524 2501, 0 3524 2448  หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286

หมายเหตุ
ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

เชิญแสดงความคิดเห็น