พระแก้วมรกต ณ วัดลำปางหลวง

0

ทริปนี้ดูเอเซียพาเพื่อนๆ ทัวร์จังหวัดลำปางกันอีกแล้วครับ หลังจากที่เคยพาไปสักการะพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำปาง และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลูอีกด้วยนะครับ วันนี้ดูเอเซียก็จะพาย้อนกลับไปที่พระธาตุลำปางหลวงอีกครั้งครับ แต่คราวนี้จะกล่าวถึงตำนานของ พระแก้วมรกต ที่ได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุลำปางหลวง ตั้งแต่ปี 2547 กันครับ

พระแก้วมรกต หลายคนคงนึกถึงพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพ ชื่ออาจเหมือนกัน แต่เป็นพระ พุทธรูปที่แกะสลักจากแก้วมรกตที่เป็นเนื้อหยกเหมือนกัน

ตามตำนานเล่าว่า เริ่มจากศิษย์ตถาคตหรือศิษย์พระพุทธเจ้า ได้จุติจากดาวดึงส์ลงมาปฏิสนธิที่เมืองกุกุตนคร(เมืองลำปาง) เมื่อเจริญวัยก็ออกบวชเป็นภิกษุ ต่อมาได้เป็นพระเถระ ขณะเดียวกันก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งได้ลงมาจุติที่เมืองกุกุตนครเช่นเดียวกัน ชื่อว่านางสุชาดา นางได้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา จนได้มาปรนนิบัติรับใช้พระเถระอยู่ที่วัดม่อนดอนเต้า อยู่มาวันหนึ่งพระเถระคิดจะสร้าง พระพุทธรูปสักองค์ แต่หาวัตถุที่จะสร้างไม่ได้ ก็พอดีนางสุชาดาได้ไปที่ไร่เพื่อเก็บดอกไม้มาถวายพระ ได้พบหมากเต้า หรือผลแตงโม ลูกงามใบหนึ่ง จึงนำมาถวายพระเถระ แต่เมื่อผ่าออกมาปรากฏว่าในผลหมากเต้านั้นพบแก้วมรกตอยู่ข้างใน พระมหาเถระก็นำแก้วมรกตนั้นมาสลักให้เป็นพระพุทธรูป  เมื่อเสร็จแล้วก็มีพิธีฉลองสมโภชพระแก้วมรกต และตั้งชื่อวัดม่อนดอนเต้าเป็น “ วัดพระแก้วดอนเต้า ” มาจนทุกวันนี้

จากนั้นมีเสียงเล่าลือว่า พระมหาเถระกับนางสุชาดาเป็นชู้กัน ความทราบถึงอำมาตย์ผู้ปกครองนครนี้ และโดยที่ไม่ได้ไต่สวน ความจริงให้ปรากฏ จึงทรงกราบบังคมทูลให้เจ้านครทราบ และมีบัญชาให้เพชฌฆาตนำนางสุชาดาไปฆ่าเสีย ณ ริมฝั่ง แม่น้ำวัง โดยก่อนที่นางสุชาดาจะถูกประหารก็ได้อธิษฐานว่า หากนางเป็นชู้กับพระมหาเถระจริง ก็ขอให้เลือดตกลงพื้นดิน แต่ถ้าหากไม่มิได้เป็นชู้ ก็ขออย่าให้เลือดพุ่งขึ้นสู่อากาศ

เมื่อเพชฌฆาตลงดาบปรากฏว่าเลือดของนางพุ่งสู่อากาศโดยไม่ตกลงพื้นดินเลย เจ้านครเมื่อทราบเรื่องนี้ก็ทรงเสียพระทัย และขาดใจตายในเวลาต่อมา จากนั้นพระมหาเถระก็หนีออกจากวัดพระแก้วดอนเต้าไปพักอยู่ที่วัดสัมภะกัปปะ (วัดพระธาตุลำปางหลวง) พร้อมกับนำเอาพระแก้วมรกตไปด้วย พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงมาจนทุกวันนี้

 

พระแก้วมรกตองค์ปัจจุบันที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 พระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่กุฏิพระแก้ว ซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าแก่ และไม่พบที่มาว่าสร้างเมื่อใด เดิมเป็นกุฏิของเจ้าอาวาสองค์ ก่อนๆที่หากพระรูปใดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็จะต้องมาจำพรรษาอยู่กุฏิหลังนี้ อาคารหลังนี้จึงเหมือนกับเป็นทั้งกุฏิเจ้าอาวาสและห้องรับแขกของวัดโดยปริยาย

นอกจากจะเป็นกุฏิเจ้าอาวาสแล้ว ก็ยังเป็นที่เก็บสิ่งของมีค่า ของโบราณๆต่างๆ มากมาย เช่นศาสตราอาวุธสมัยที่ยังรบกับพม่า ของใช้โบราณที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด พระพุทธรูปเก่าแก่ และที่สำคัญยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองลำปางอีกด้วย

ปัจจุบันกุฏิพระแก้วเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่ก็มีการสร้างลูกกรงเหล็ก ถึง 2 ชั้นอย่างแน่นหนา พูดตามประสาเด็กที่มาเห็นก็บอกว่า พระติดคุก และเป็นอยู่แบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ชาวบ้านบอกว่าในอดีตนั้นพระแก้วมรกตอยู่ในวิหารหลังอื่น ไม่ได้อยู่ที่กุฏิหลังนี้ แต่ในอดีตเกือบถูกโจรกรรม จึงอัญเชิญมาไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส เพื่อจะได้มีคนอยู่เฝ้าและเห็นว่าปลอดภัยที่สุด

ครั้นเมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่แล้วก็ยังถูกขโมยงัดฝาไม้ด้านหลังกุฏิ จึงสร้างลูกกรงไว้ชั้นหนึ่ง ต่อมามีการพยายามจะขโมยพระแก้วมรกตอยู่หลายครั้ง จนต้องสร้างลูกกรงเพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากภายในกุฏิ จะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตแล้ว ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์พระธาตุลำปางหลวง ที่ได้รวบรวมเอา ของพระพุทธรูปเก่าแก่ ของมีค่า โบราณมากมาย มาแสดงให้กับนักท่องเที่ยวได้ชมกัน ชนิดที่หาดูได้ยาก ,, โดยพิพิธภัณฑ์จะมีในส่วนของกุฏิ และฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พระธาตุลำปางหลวงอีกด้วยครับ

หากใครได้แวะมานมัสการพระธาตุลำปางหลวง แล้วละก็…เดินเข้ามาประตูอีกฝั่ง จะพบกับกุฏิที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเอาไว้ โดยจะมีนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปกราบไหว้อย่างไม่ขาดสายเลยล่ะครับ มาทั้งที ต้องเที่ยว ชมให้ครบ ถึงจะคุ้มนะครับ …

การเดินทาง

1.โดยรถยนต์ส่วนตัว

วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่ที่ ตำบลลำปางหลวง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสาย

ลำปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร

ถึงทางแยกเข้าอีก 1 กิโลเมตร

2.รถโดยสาร

หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสามารถใช้บริการรถสองแถวสีฟ้าที่ถนนรอบเวียงใกล้ตลาดออมสิน

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วน จาก http://www.photoontour.com

ขอบคุณภาพ วัดพระธาตุลำปางหลวง 

เชิญแสดงความคิดเห็น