วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

0

จังหวัดน่าน เมืองประวัติศาสตร์ที่ รายล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมสมัยเก่าที่งดงามและมีมนตร์ขลังมาก ๆ อีกทั้งเมืองน่าน ยังเป็นเมืองที่เงียบสงบ อากาศดี ผู้คนมีน้ำใจอัธยาศัยดี อาหารการกินก็หลากหลายมากรสชาติ เป็นเมืองที่เหมาะแก่การมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเป็นอันมาก วันนี้ดูเอเซียนึกอยากเข้าวัดทำบุญขึ้นมาซะงั้น จึงขออาสาพาเพื่อน ๆ ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เพื่อชมความงดงามและสักการะพระธาตุช้างค้ำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งของเมืองน่านครับ ไม่ดูที่ว่าที่ไปกันก่อนเลยว่า “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” มีที่มาที่ไปอย่างไร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถงด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันใดด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลางทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็กอยู่ด้านซ้ายและด้านขวามีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธานด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทยภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลายกนอกระย้าย้อยเหมือนลวดลายที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซ็นติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้างเมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ

พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์สร้างด้วยอิฐถือปูนมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสองมีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัวโผล่ส่วนหัวลอยออกมาครึ่งตัวขาหน้าทั้งคู่ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงรองรับมาลัยลูกแก้วลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก

จากที่ได้เข้าไปสักการะและชมความงามของที่วัดแห่งนี้ รูปทรงเจดีย์ที่ดูแปลกตา ที่ค้ำจุนด้วยสถาปัตยกรรมทรงช้างนับสิบตัว ผมคิดว่าเป็นความแปลกและงดงามควรค่าแก่การเคารพศรัทธาของชาวเมืองน่านจริง ๆ ครับ ดูเอเซียก็ไม่พลาดครับที่จะเก็บภาพบรรยากาศ ความประทับใจแบบนี้ไปฝากเพื่อน ๆ ดูเอเซียดอทคอมอย่างแน่นอน หากเพื่อน ๆ ดูเอเซียดอทคอมคนไหนมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวที่จังหวัดน่านน่ะครับ ลองเขามาเที่ยวในตัวเมืองจังหวัดน่านกันดู แล้วจะพบกับสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากมายจนคุณต้องอิ่มอกอิ่มใจที่มาเยือนอย่างแน่นอน อย่างเช่น ที่ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร”แห่งนี้ อย่าลืมแวะมาเที่ยวน่านกันเยอะ ๆ น่ะครับเพื่อน ๆ ทุกคน และมาดูกันว่าทริปหน้าดูเอเซียจะพาไปกินเที่ยวที่ไหนกันอีก

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.น่าน ตรงข้ามกับ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” และใกล้ ๆ กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จ.น่าน นั้นเอง

เชิญแสดงความคิดเห็น