งานประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม

0

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม (เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก”พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัส-สะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีตำนาน การไหลเรือไฟที่แตกต่างกันก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะ เป็นภาพที่งดงามติดตาติดใจผู้พบเห็นไปตราบนานเท่านาน ไม่มีที่ไหนๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม

    

งานประเพณีไหลเรือไฟปีนี้จะจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าปีที่ผ่านมา โดยจะมีพิธีอัญเชิญไปพระฤกษ์แตกต่างจากปีที่ผ่านมาโดยจะอัญเชิญไฟพระฤกษ์ใน วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันไหลเรือไฟ พร้อมกับมีกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้.การประกวดเรือไฟ,การลอยกระทงสาย,การแข่งเรือยาว,การแห่ปราสาทผึ้ง,การรำบูชาพระธาตุพนม ซึ่งเป็นการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ รวม 7 เผ่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่า และร่ายรำด้วยท่วงท่าอันงดงาม เพื่อบูชาพระธาตุพนม,การตักบาตรเทโว,การจัดงานออกร้านกาชาด และการออกรางวัลสลากกาชาดการกุศล ในปีนี้จัดขึ้นบริเวณศาลากลางจังหวัดนครพนมและบริเวณริมเขื่อนถนนสุนทรวิจิตร

 

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีไหลเรือไฟ

งานประเพณีไหลเรือไฟ นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประเพณีไหลเรือไฟ มีความเชื่อเกี่ยวโยง สัมพันธ์กับข้อมูลความเป็นมาหลายประการ เช่น เนื่องจากการบูชารอยพระพุทธบาท  การสักการะพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี  การระลึกถึงพระคุณ ของพระแม่คงคา เป็นต้น

เรือไฟประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นทุ่นสำหรับลอยน้ำ จะใช้ไม้ที่ลอยน้ำ มาผูกติดกันเป็นแพ และส่วนที่เป็นรูปร่างสำหรับจุดไฟ เป็นส่วนที่อยู่บนทุ่น ใช้ไม้ไผ่ ลำยาวแข็งแรง ตั้งปลายขึ้นทั้ง 3 ลำ เป็นเสารับน้ำหนักของแผลง และแผลงนี้ ก็ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กมาผูกยึดไขว้กัน เป็นตารางสี่เหลี่ยม ระยะห่างกันประมาณ คืบเศษ มัดด้วยลวดให้แน่ วางราบบนพื้น เมื่อวางแผนงานออกแบบบนแผงว่า ควรเป็นภาพอะไร การออกแบบในสมัยก่อน ออกแบบเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ศาสนาพุทธ  เช่น  พุทธประวัติ  เป็นต้น  มีการถวายภัตตาหารเพล แล้ว เลี้ยงญาติโยมที่มาในช่วงบ่าย มีการละเล่นต่าง ๆ  เพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งมีการรำวงเป็นการฉลองเรือไฟ พอประมาณ 5 – 6 โมง เย็น หรือตอนพลบค่ำ มีการสวดมนต์รับศีลและฟังเทศน์ ถึงเวลาประมาณ 19 – 20 นาฬิกา ชาวบ้าน จะนำของกิน ผ้า เครื่องใช้ ขนม ข้าวต้มมัด  กล้วย อ้อย หมากพลู  บุหรี่ ฯลฯ ใส่ลงในกระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้งถึงเวลา จะจุดไฟให้เรือสว่าง แล้วปล่อยเรือให้ลอยไปตามแม่น้ำ 

 

ในช่วงใกล้ออกพรรษา ชาวบ้านจะเตรียมจัดเรือไฟ โดยเอาต้นกล้วยมาเสียบไม้ต่อกันให้ยาว วางสองแถว นำไม้ไผ่มาผูกไขว้เป็นตารางสี่เหสี่ยมและมัดด้วยลวดให้แน่นอน หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบภาพบนแผงว่าจะสร้างสรรค์อย่างไร ต่อจากนั้นก็จะนำจีวรเก่าของพระมาฉีกแล้วชโลม ด้วยน้ำมันให้ชุ่มพอประมาณ นำไปผึ่งแดดประมาณ 6-7 วัน จนมีสีน้ำตาลเข้ม นำไปมัดและผูกด้วยลวด ภายในเรือจะนำกล้วย อ้อย เผือก มัน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ใส่ไว้เพื่อเป็นทานให้แก่ผู้สัญจรไปมา

เมื่อถึงเวลาตอนเย็นชาวบ้านต่างพากันลงเรือและร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานพอ ตอนค่ำก็จุดไฟในเรือ ลากไปกลางน้ำแล้วปล่อยให้เรือลอยไปเรื่อยๆ โดยยังมีการควบคุมเรืออยู่แต่พอพ้นเขตหมู่บ้าน ก็จะมีคนมาเอาสิ่งของในเรือไปจนหมดระยะ หลังได้มีการดัดแปลงการทำเรือไฟให้แปลกตา ใช้น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันโซล่า แทนขี้ไต้ แพหยวกก็เปลี่ยนมาเป็นถังเหล็ก ใช้โครงเหล็กเพื่อความทนทานและดัดแปลงรูปร่างได้หลากหลาย จึงได้มีการจัดประกวดเรือไฟขึ้น ในงานประเพณีได้รับพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย 

จังหวัดที่เคยทำพิธีกรรมการไหลเรือไฟอย่างเป็นทางการ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม หนอง เลย มหาสารคาม และ อุบลราชธานี ในงานประเพณีไหลเรือไฟ จะมีความยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา แต่ก็มีข้อคิดและ สาระที่แฝงอยู่นั้นก็คือ ชีวิตมนุษย์เป็นอนิจจังเนื่องจากเมื่อมนุษย์เกิดมาก็ต้องดำเนินชีวิตไปด้วย ความสุขและความทุกข์ แต่สุดท้ายมนุษย์ทุกคนก็จะต้องตาย ชีวิตดับสูญไปในที่สุด

    

เชิญแสดงความคิดเห็น