ประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอก ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

0

ทริปนี้ดูเอเซีย.คอมพามารู้จักกับประเพณีพื้นบ้านที่น้อยคนจะรู้จัก นั่นคือประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอก ตำบลฟ้าหยาด  อำเภอมหาชนะชัย  จังหวัดยโสธร ที่จัดขึ้นทุกๆปี  ประเพณีการแห่มาลัยที่ทำด้วยข้าวตอกแตก  โดยชาวบ้านจะร้อยเป็นสายแล้วนำไปถวายพระที่วัดในช่วงก่อนวันมาฆบูชาและก่อนวันงานบุญผะเหวด(เทศน์มหาชาติ) ในปีนี้จัดขึ้นวันที่ วันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ 2554

ดูเอเซีย.คอม จะพาไปรู้จักกับความเป็นมาของประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอกกัน ชาวอำเภอมหาชนะชัยมีความเชื่อเรื่องใช้ข้าวถวายเป็นพุทธบูชาอยู่แล้ว  จึงได้จัดประเพณีการแห่มาลัยขึ้นเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมของชุมชนโดยจะมีชุมชนที่เข้าร่วมจัดทำเป็นมาลัยขนาดใหญ่เพื่อเป็นตัวแทนชุมชนเข้าร่วมการประกวด   ชุมชนที่เข้าร่วมในการแห่มาลัยมากที่สุดคือ  หมู่  2  หมู่ 4 และหมู่ 8  ตำบลฟ้าหยาด  ในตำบลอื่นก็มีทำบ้างแต่ไม่มากนัก  

kawtok

ข้อสำคัญที่ทำให้เกิดประเพณีนี้ขึ้นคือ ความเชื่อทางศาสนา   พระครูสมุห์ไพฑูรย์  จตารโย(สัมภาษณ์ : ๒๕๕๐) กล่าวว่า ในความเชื่อทางศาสนานั้นกล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาลนั้นมีดอกมณฑารพ๖ ตกมาเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เมื่อประสูติ  เมื่อตรัสรู้ เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อชาวพุทธระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พากันเอาข้าวมาคั่วให้เป็นดอก  หมายว่าเป็นดอกมณฑารพเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้วยที่มาที่กล่าวถึงดอกมณฑารพนั้น    ชาวอำเภอมหาชนะชัยโดยการร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ  หน่วยงานเอกชน  พ่อค้า ประชาชนชาวอำเภอมหาชนะชัยจึงได้ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่มาลัยอย่างยิ่งใหญ่   ถือเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอและของจังหวัดยโสธร  ในเรื่องความเชื่อเรื่องดอกมณฑารพนั้นมีเพียงที่อำเภอมหาชนะชัยเท่านั้น   จึงอาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาได้หยั่งลึกในอำเภอแห่งนี้มาช้านานแล้วอิทธิพลทางศาสนาจึงก่อให้เกิดพิธีกรรมจนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญในที่สุด

pic34 pic7 pic37pic3

ประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอกนั้น  เป็นประเพณีที่เกิดจากการแพร่กระจายของการใช้ข้าวเป็นเครื่องบูชา ปรับเปลี่ยนมาจนเป็นมาลัยที่ใช้แขวนเป็นเครื่องบูชานั้นได้เกิดกระบวนการสั่งสมประสมการและภูมิปัญญา   ตลอดจนเกิดเป็นวัฒนธรรมซึ่งมีคติในพิธีกรรม   ที่มาที่แฝงเร้นในการจัดพิธีกรรมการแห่ข้าวดอก  คือ

1. เป็นพิธีกรรมที่สร้างความสมานฉันท์คนในชุมชน กล่าวคือ การจัดประเพณีย่อม ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้จากคนเพียงคนเดียว  หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน  จึงเกิดการร่วมกิจกรรม    การยอมรับและการทำงานระบบกลุ่ม  นับเป็นกลเม็ดสำคัญทำให้คนในชุมชนเกิดความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกันกลายเป็นความสมานฉันท์กันในชุมชน

pic23

2. เป็นการสร้างชิ้นงานที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น    กล่าวคือ  การทำมาลัยนั้น เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการทดลอง  แก้ไขและสั่งสมของคนในท้องถิ่นมาหลายรุ่น  จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ตกผลึก  คือ  การนำเอาข้าวเปลือกข้าวเหนียว มาคั่วในหม้อดิน ใช้ก้านกล้วยคนไปมาเพื่อให้เม็ดข้าวแตกเป็นดอก  จากนั้นก็มีภูมิปัญญาในการคัดแยกระหว่างดอกข้าวตอกและกากเปลือกข้าวโดยการนำไปฝัด(ร่อน)ในกระด้งเพื่อให้กากข้าวนั้นปลิวออกให้เหลือเพียงเม็ดดอกข้าวตอกเท่านั้น  ภูมิปัญญาจากชิ้นงานประการต่อมาคือ การร้อยดอกข้าวตอก  หากร้อยให้ด้านที่มีสีเหลืองขึ้นด้านบนจะทำให้มาลัยนั้นมีลักษณะสีข้าวอมเหลือง  แต่ถ้าหากร้อยให้ด้านที่มีสีเหลืองนั้นคว่ำลง  จะทำให้มาลัยนั้นเป็นสีขาวโพลน ประการสุดท้าย  การร้อยต้องใช้เข็มสอยเท่านั้นเพราะหากใช้เข็มร้อยมาลัยจะทำให้ดอกข้าวตอกนั้นเกิดการแตกเสียหายได้  จากความสามารถในการร้อยมาลัยนี่เองจึงเป็นที่มาของประเพณีการแห่มาลัยรูปทรงของมาลัยก็นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รังสรรค์ขึ้น  โดยทั่วไปมีอยู่สองประเภทคือ  มาลัยสายฝนและมาลัยผูกข้อ  แต่ลักษณะการตกแต่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความ สามารถเฉพาะคนของผู้สร้างชิ้นงาน  แต่โดยมากที่ส่วนบนของมาลัยนั้นจะร้อยดอกข้าวตอก    ให้เป็นลักษณะตาแหลว เพื่อความสวยงามและแฝงคติข้อคิดด้วย

pic22 pic14 pic20

3.แฝงข้อคิดเพื่อสอนชุมชน จากที่กล่าวมาแล้วมาสวนบนของมาลัยนั้น ส่วนมากจะร้อยเป็นตาแหลวเพราะมีความเชื่อว่า แหลวหรือเหยี่ยวนั้นมีสายตามที่แหลมคมและมีอำนาจ  สามารถส่องเห็นได้แม้อยู่ที่ไกล    ด้วยนัยอันนี้ชาวบ้านจึงเชื่อว่าตาแหลวที่อยู่ส่วนบนของมาลัยนั้นจะสอด ส่อง และขับไล่ความชั่วร้ายออกไปจากชีวิตผู้คนและสอดส่องความทุกข์ร้อนของผู้คนเพื่อให้ความช่วยเหลือหรืออวยพรให้เกิดความสุขความเจริญ
4. ส่งเสริมความเชื่อมั่นและศรัทธาในศาสนา ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นและมีความศรัทธาในศาสนาที่ตนเองนับถือ เกิดความสุขทางจิตและส่งผลดีทางใจทำให้เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับของชุมชน  แล้วความเชื่อนี้ก็ผันไปเป็นมติทางสังคมและกลายเป็นกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของคนในชุมชนนั้นด้วย  ความเชื่อและความศรัทธานั้นได้ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่และกลายเป็นผู้รักษาและสืบทอดความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาต่อไป  ประเพณีการแห่มาลัยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อความศรัทธาที่ยึดมั่นในศาสนา  จึงได้พยายามสั่งสมและสั่งสอนให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดความเชื่อความศรัทธานี้   ในการถวายมาลัยของชาวบ้านจะไม่เน้นที่ต้องกล่าวคำถวายหรือมีพิธีการแต่อย่างใด   หากแต่ถ้าได้นำไปแขวนไว้ก็มีความสุขใจแล้ว

pic33 pic35 pic36
5. เพื่อการแสดงออกถึงความสามารถและความต้องการของชุมชน เพราะประเพณีเกิดจากการยอมรับของคนในชุมชนและขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน จึงเป็นแหล่งแสดงความ สามารถของคนในชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการร้อยมาลัยข้าวตอก  การเซิ้งเพื่อให้เกิดความบันเทิงใจ  ในขบวนการแห่มาลัยนั้นได้มีการสร้างหุ่นเพื่อใช้เต้นเซิ้งให้เกิดความสนุกสนานและยังเป็นเครื่องขับไล่ความชั่วร้ายของหมู่บ้าน  ชาวบ้านเรียกหุ่นนี้ว่า  อีโถน

pic30

นอกจากนี้ยังแสดงถึงความต้องการนั้นคือ ความสุขทางจิตใจและบุญ และความต้องการในการดำรงอยู่ของชีวิต  กล่าวคือ การถวายข้าวตอกนั้นมีนัยแฝงอีกอย่างคือเพื่อขอให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านข้าวปลาอาหาร จึงได้ใช้ข้าวเป็นเครื่องบูชา  แนวคิดนี้พ้องกันกับแนวคิดที่มีการหว่านข้าวสารเมื่อเทศน์ผะเหวด เพื่อความสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร

เพื่อนๆดูเอเซีย.คอม คงเห็นประวัติความเป็นมาของประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอกกันแล้วนะคะ ทางดูเอเซีย.คอม ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆและภาพสวยๆจาก ททท.  อุบลราชธานี ด้วยค่ะ

เชิญแสดงความคิดเห็น