ลุงประหยัด น้ำตาลมะพร้าว

0

“ ลุงประหยัด ” ปรมาจารย์ การทำน้ำตาลมะพร้าวแห่งสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีสภาพเหมาะสมในการปลูกมะพร้าวเป็นอย่างยิ่ง และเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามมีการปลูกมะพร้าวกันมานานนับ 100 ปีแล้ว เริ่มแรกเดิมทีก็จะเป็นการปลูกมะพร้าวพันธุ์ผลใหญ่หรือมะพร้าวใหญ่ สำหรับเก็บผล ต่อมาก็มีการเริ่มทำน้ำตาลมะพร้าวจนกระทั่งวันนี้อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวก็จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีแก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่สำคัญอาชีพหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม

ครับทริปนี้ดูเอเซีย.คอมจะพาเพื่อนๆเดินทางไปถึงสมุทรสงครามเพื่อที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาและขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวว่ามีที่มาอย่างไร ก่อนอื่นขอกล่าวถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะพร้าวกันก่อนน่ะครับ  มะพร้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Coco nucifera Linn เชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่แหลมมาลายูไปจนถึงนิวกินี    ระบบรากเป็นรากฝอย ลำต้นเดี่ยว ใบรวมแบบขนนก ช่อดอกอยู่เหนือก้านใบ ติดกับลำต้น ชาวสวนมะพร้าวเรียกว่าจั่น ผลประกอบด้วยเปลือก 3 ชั้น คือ เปลือกชั้นนอก เปลือกชั้นกลาง จนถึงกะลา เมล็ดคือส่วนทั้งหมดที่อยู่ในกะลา

พันธุ์มะพร้าวตาล เป็นสายพันธุ์มะพร้าวที่ชาวสวนคัดเลือกมาจากต้นมะพร้าวปกติที่ให้ปริมาณน้ำตาลสดมาก สม่ำเสมอ จำนวนจั่นต่อปีมาก จั่นใหญ่เหนียวโน้มได้ง่าย พันธุ์มะพร้าวที่นิยมปลูกในจังหวัดสมุทรสงครามได้แก่ พันธุ์เท้งบ้อง พันธุ์สาริชา พันธุ์สายบัว และพันธุ์ทะเลบ้า

ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงครามก็ยังมีการคัดพันธุ์มะพร้าวมาเรื่อยๆ ได้แก่ พันธุ์มะพร้าวน้ำหอมหรือพันธุ์มะพร้าวอ่อนน้ำหวานก็มีการคัดพันธุ์มาใช้ในการทำน้ำตาลมะพร้าว เพราะน้ำตาลสดที่ได้หลังจากนำมาเคี่ยวแล้วจะได้น้ำตาลที่หวานมันและมีกลิ่นหอมและจำนวนจั่นต่อปีมีมากแต่มีข้อเสียคือจั่นเล็ก น้ำตาลต่อวันได้น้อย โดยมีนายบุญมาก ลิ้มไพบูลย์ เกษตรกรตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที ริเริ่มทำน้ำตาลมะพร้าวน้ำหอมแล้วนำน้ำตาลมะพร้าวมาทำผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดบรรจุขวดและบรรจุกระป๋องจำหน่าย เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดของน้ำตาลมะพร้าวอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งตลาดยอมรับเป็นอย่างดี

พื้นที่ปลูกมะพร้าวตาลของจังหวัดสมุทรสงคราม มีเกษตรกรทำสวนมะพร้าวเพื่อทำน้ำตาลมะพร้าวทั้ง 3 อำเภอ ปัจจุบัน มีพื้นที่ทำสวนมะพร้าวตาลทั้งหมด ประมาณ 18,651 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,279 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาน้ำตาล ราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้จังหวัดสมุทรสงครามประมาณปีละสามร้อยกว่าล้านบาทเลยทีเดียว

เมื่อดูเอเซีย.คอมเดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรสงคราม เราได้ยินมาว่าที่สมุทรสงครามแห่งนี้มีบุคคลท่านหนึ่งชาวบ้านแถวนั้นยกย่องให้ว่าเป็นปรมาจารย์การทำน้ำตาลมะพร้าวของจังหวัดสมุทรสงครามเลยทีเดียว ดูเอเซีย.คอมจึงไม่รอช้า เราจึงเดินทางไปยังคำเล่าขานซึ่งจุดหมายของเราคือ หมู่บ้าน มิตรคลองไทร บ้านเลขที่ 48 หมู่ 8  ต.บางพรม อ.บางขุนที จ.สมุทรสงครามและเมื่อมาถึงจุดหมายปลายทางเราก็ได้พบกับสวนมะพร้าวที่เรียงรายด้วยต้นมะพร้าวขนาดไม่ต่างกันมากนักเรียงเป็นแนวยาวสุดสายตา ในขณะที่เราเดินชมบรรยากาศอันร่มรื่นของสวนมะพร้าวที่หาไม่ได้อย่างแน่นอนในสังคมเมือง เราพบกับคนงานหญิงคนหนึ่งที่กำลังทำหน้าที่ปีนต้นมะพร้าวเพื่อเก็บน้ำตาลมะพร้าวอยู่ เราจึงเดินเข้าไปทักทายและสอบถามเธอๆ อธิบายการปีนเก็บน้ำตาลมะพร้าวอย่างตะกุกตะกัก เพราะเธออายกล้องที่ทีมงานดูเอเซีย.คอมจับจ้องมาทางเธอตลอดเวลา  หลังจากนั้นไม่นานเธอก็รีบไล่เราไปหาเจ้าของสวนตัวจริง เมื่อดูเอเซีย.คอมหยอกเย้าพี่คนงานปีนต้นมะพร้าวจนหนำใจแล้ว เราจึงเดินเข้าไปข้างในสวนเพื่อตามหาเจ้าของสวน

แล้วเราก็ได้พบกับ “ลุงประหยัด  พยัคเวช” เจ้าของสวน ปรมาจารย์การทำน้ำตาลมะพร้าวที่เราตามหาและพี่ภรผู้ช่วยคนเก่งของลุงประหยัด  ลุงและป้าทักทายและเป็นกันเองกับเรามาก ดูเอเซีย.คอมจึงไม่รอช้าเรารีบซักประวัติและสอบถามถึงขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวจากลุงประหยัดทันที  ลุงประหยัดเล่าให้ดูเอเซีย.คอมฟังว่าจังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีการปลูกต้นมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยที่ยังมีการทำนาข้าวกันอยู่ ซึ่งในอดีตจะมีการทำนาข้าวอยู่ทั่วไปในจังหวัด และจะปลูกต้นมะพร้าวตามคันนา เพื่อใช้เป็นร่มเงาในการพักร้อน ในช่วงของการทำนา แต่ปัจจุบันการทำนาข้าวมีลดน้อยลง เพราะชาวบ้านหันมาทำสวนผลไม้และสวนมะพร้าวแทน อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้นก็ได้มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยที่มีการทำนาอยู่ คือในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาชาวบ้านก็จะทำน้ำตาลมะพร้าวกัน ซึ่งในสมัยก่อนขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้น ค่อนข้างจะมีขั้นตอนมากกว่าในสมัยปัจจุบันนี้ และจะรองน้ำตาลเพียงครั้งเดียวคือเฉพาะน้ำตาลเช้า ซึ่งปัจจุบันจะรองน้ำตาลทั้งเช้าและเย็น หรือที่ชาวบ้านเรียกน้ำตาลช่วงเย็นว่า “น้ำตาลเที่ยง”

เมื่อลุงประหยัดบอกเราถึงอุปกรณ์คร่าวๆที่จำเป็นต้องใช้แล้ว ลุงแกก็เล่าให้เราฟังต่อไปอีกว่ากว่าจะมาเป็น“น้ำตาลมะพร้าว” คนขึ้นตาลจะเริ่มเก็บน้ำตาลมะพร้าวตั้งแต่ตี 5 การขึ้นตาลจะขึ้นวันละ 2 รอบ รอบเช้าเรียกว่า “ตาลเช้า” รอบบ่ายเรียก “ตาลเย็น” ตาลเช้าจะทำงานหนัก และนานกว่าตาลเย็น เพราะ รอบเช้า จะมีน้ำตาลจากรอบเย็น ที่แขวนทิ้งไว้ข้ามคืนทำให้ได้น้ำตาลมากกว่า

พอขึ้นตาลเช้าเสร็จแล้วจะนำน้ำตาลที่ได้มาเทรวมกัน โดยใช้ผ้าขาวบาง หรือกระชอน กรองเศษพะยอม ที่ชาวสวนใส่ไว้เพื่อไม่ให้น้ำตาลบูด เมื่อเริ่มเคี่ยว ตอนที่น้ำตาลยังไม่เดือด จะมีฟองมาก ก็จะนำกระชอนมาตักฟองออก เมื่อน้ำตาลเริ่มเดือดฟูขึ้น จะใช้โค หรือ กะว้งครอบลงไปในกระทะ กันไม่ให้น้ำตาลเดือดล้นออกอกกระทะ น้ำตาลจะเริ่มเข้มขึ้นฟองจะเหนียวและเป็นสีเหลือง เมื่อน้ำตาลเดือดได้ที่คือ เนื้อข้นมากๆ ก็จะนำกระทะหมุนไปหมุนมาเพื่อไม่ให้น้ำตาลไหม้ จนเนื้อข้นหมดฟองก็ยกกระทะลงวางบนเสวียน หรือล้อรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้กระทะโคลงเคลงแล้วกระทุ้งน้ำตาลไปมาด้วยเหล็กสุ่มลักษณะคล้ายๆกับที่ตีไข่แต่ใหญ่กว่าเพื่อให้เนื้อของน้ำตาลละเอียดและเย็นตัวลง หลังจากนั้น ก็นำน้ำตาลไปหยอดลงในภาชนะ หรือตักชั่งเป็นกิโลกรัมส่งออกจำหน่าย

เตาเคี่ยวตาลในสมัยก่อนจะเป็นเตาเดี่ยว เคี่ยวได้ทีละกระทะ เรียกว่า “เตาโดด” ต่อมาเริ่มพัฒนามาเป็น “เตาดุน” มี 2 กระทะ แล้วต่อช่องไฟให้ถึงกัน จนพัฒนามาเป็น “เตาปล่อง” ที่สามารถเคี่ยวได้หลายกระทะ ตามความมากน้อยของน้ำตาล และทำให้ประหยัดเวลาและฟืนกว่าเตาแบบเดิมส่วนฟืนที่ใช้ในการเคี่ยวตาลนั้นก็เอามาจากกาบและใบของมะพร้าวที่แห้งร่วงลงจากต้นแล้วนั่นเองเรียกได้ว่าใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้นจริงๆ

ลุงประหยัดบอกกับดูเอเซีย.คอมว่า น้ำตาลสด 7  ปี๊บ จะเคี่ยวน้ำตาลได้ 1 ปี๊บ (30 ก.ก.) กว่าจะได้ ปี๊บครึ่งต้องใช้เวลาเคี่ยวถึง 2  ชั่วโมงเลยที่เดียว ส่วนในเรื่องของราคาแล้วละก็ราคาปี๊บละ 620 บาทเลยทีเดียวน่ะครับ หรือถ้าจะซื้อเป็นกิโล ก็คิดเป็นกิโลกรัมละ 25 บาท ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีอาชีพหนึ่งเลยน่ะครับเพื่อนๆ แต่สำหรับลุงประหยัดเขาขายเป็นปี๊บครับเล็กๆไม่ใหญ่ๆลุงประหยัดทำครับ

ลังจากที่เราพูดคุยกับลุงประหยัดและป้าภรอยู่นานดูเอเซีย.คอมก็ไม่ลืมที่จะลองชิมน้ำตาลมะพร้าวฝีมือของลุงประหยัดและป้าภรว่าสมคำรำลือตามคำเล่าขานหรือไม่ ลุงแกรีบเชิญให้เราทานน้ำตาลมะพร้าวที่เพิ่งเสร็จใหม่ๆจากเตาเลยทีเดียว  ไม่ผิดหวังเลยครับทั้งหวานทั้งหอมติดมันนิดๆ สมกับที่ทำมานานกว่า 30 ปี สมแล้วครับที่เป็นปรมาจารย์แห่งการทำน้ำตาลมะพร้าวจริงๆครับก่อนกลับลุงประหยัดยังมีน้ำใจจะยกน้ำตาลมะพร้าวให้ดูเอเซีย.คอมอีก 1 ปี๊บ เลยครับนี่แหละคือน้ำใจของคนไทยและของคนสมุทรสงคราม แต่ดูเอเซีย.คอมนำกลับไม่ได้จริงๆ เลยขอแค่ 2 ถุงเล็กๆ ก็พอ หากเพื่อนๆมีโอกาสผ่านไปจังหวัดสมุทรสงคราม อย่าลืมแวะดูแวะชม

อาชีพขึ้นตาลและทำน้ำตาลมะพร้าวซึ่งถือว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ และยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถอุดหนุนซื้อน้ำตาลมะพร้าวที่คี่ยวกันสดๆหอมๆติดไม้ติดมือไปไว้ทำอาหารที่บ้านหรือฝากพี่ๆน้องๆกันได้นะครับ ดูเอเซีย.คอมการันตีว่าน้ำตาลมะพร้าวที่สมุทรสงครามเข้าดีจริงๆครับโดยเฉพาะ น้ำตาลมะพร้าวของลุงประหยัด ปรมาจารย์แห่งการทำน้ำตาลมะพร้าวของจังหวัดสมุทรสงคราม  การตามหาลุงประหยัดก็ตามนี้ครับรับรองไม่ผิดหวังครับ บ้านเลขที่ 48หมู่ 8 ต.บางพรม อ. บางขุนที จ. สมุทรสงคราม

ขอบคุณภาพ www.thairath.co.th

เชิญแสดงความคิดเห็น