ถ้ำเสาหิน น้ำตกลำคลองงู กาญจนบุรี

0

เสาหินที่สูงที่สุดในโลกในถ้ำมืด

ผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวสู่โลกธรรมชาติอันกว้างใหญ่ ที่มิได้มีขอบเขตเพียงการเที่ยวอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนชอบเที่ยวน้ำตก ชอบภูเขา ชอบดอกไม้ ชอบทะเล ที่ถือว่าเป็นรสนิยมที่แต่ละคนมักเลือกหา เช่นเดียวกับแนวการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ที่เริ่มปรากฏให้นักท่องเที่ยวได้ลองสัมผัสกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการล่องแก่ง พายคายัก ขี่จักรยาน ปีหน้าผา หรือดำน้ำ เป็นต้น

lamklongngu27หรือจะเป็นการเที่ยวถ้ำที่มีอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่มักเป็นถ้ำที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีไฟสว่าง มีทางเดินสะดวก เพื่อชมโลกความงดงามที่อยู่ภายในถ้ำนั้นๆ แต่กระนั้นแล้วแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ แนวใหม่ๆ ที่ผสมผสานในรูปแบสำรวจ รูปแบบผจญภัยที่ต้องเป็นกลุ่มรักชอบจริงๆ จึงจะไปเที่ยวกันได้

ถ้ำที่ต้องลุยๆ เพื่อไปชมความสวยงามนั้น มีที่ไหนกันบ้าง เอาอย่างที่พอเริ่มรู้จักคือ ถ้ำลำคลองงู จังหวัดกาญจนบุรี นี้เอง ปีหนึ่งเที่ยวได้ไม่เกิน 3 เดือน เพราะอะไรนั้นเราไปดูกันดีกว่า  เป็นถ้ำที่สวยบริสุทธิ์ ปราศจากการตกแต่งไฟหรือระบบการจัดการสิ่งอำนวยความสวามสะดวก เนื้อหาสาระจะเป็นรูปแบบการผจญภัย 

ลายหินที่มีลักษณะลวดลายคล้ายลายไม้ พบที่ถ้ำเสาหิน ต้องเอาน้ำลูบจะเห็นชัด

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ถ้ำที่เราจะเที่ยวกันนี้ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จ.กาญจนบุรี ที่กำลังดำเนินการประกาศจัดตั้ง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปเที่ยวถ้ำเป็นอย่างดี ซึ่งทางอุทยานฯ ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเที่ยวถ้ำได้เพียง 3 ถ้ำ คือ ถ้ำน้ำตก ถ้ำนกนางแอ่น และถ้ำเสาหิน และเปิดเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ตามฤดูกาลเท่านั้นคือ เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม หรือขึ้นอยู่กับสภาพฝนที่ตกลงมาด้วย กรณีถ้ำน้ำตกอาจต้องปิดก่อนถ้ำอื่นๆ ก็ได้ เนื่องจากเป็นถ้ำที่ต้องลุยและลอดไปตามช่องหินแคบๆ หากน้ำขึ้นมาก ก็เข้าไปเที่ยวไม่ได้

 จงโคร่งหรือคางคกถ้ำ ตัวใหญ่ครับ

อุปกรณ์การเข้าถ้ำ อันแรกก็เป็นไฟที่สว่างมาก ควรเป็นไฟฉายคาดหัว เป็นแบตเตอร์รี่แห้งขนาดเล็ก ติดตัวกันทุกคน และควรมีไฟฉายขนาดเล็กสำรองอีกอันหนึ่ง เพราะไฟดวงใหญ่อาจดับระหว่างที่อยู่ในถ้ำก็ได้ ต่อไปก็เป็นหมวกกันกระแทก ถ้าเป็นถ้ำน้ำตกควรมีใช้ เพราะเพดานถ้ำต่ำมาก หากไม่มีก็เป็นหมวกธรรมดาก็พอใช้ได้

รองเท้า ควรเป็นรองเท้าที่กระชับ เป็นผ้าใบ หรือรองเท้ายาง หรือรองเท้ารัดส้นที่ทนทาน หากเป็นถ้ำน้ำตก เราควรมีสนับแข้งและสนับเข่าสวมไปด้วยเนื่องจากมีหินใต้น้ำจำนวนมาก โอกาสที่จะกระแทกหินย่อมมีมาก 

สำหรับชูชีพทางอุทยานฯ มีบริการให้ทุกคน แต่มีค่าบริการตัวละ 50 บาท ต่อคนต่อวัน และต้องมีอุปกรณ์ป้องกันน้ำ ควรใช้ถุงกันน้ำแบบ DRY BAG หาซื้อได้ที่ร้าน KARANA เพราะเขาทำอุปกรณ์ป้องกันอย่างนี้โดยตรง สามารถใส่กล้องเลนส์พาไปลุยน้ำได้ทุกที่

ข้อมูลเบื้องต้นที่เราควรทราบก่อนเข้า ถ้ำเสาหิน ต้องเดินป่าเป็นระยะทางไกล ใช้เวลา 2 ชม.ถึงปากถ้ำ และเข้าไปในถ้ำ 200-300 เมตร มีเสาหินอยู่เพียงจุดเดียว ขากลับต้อเดินกลับเส้นทางเดิม ขึ้นเขายาวใช้เวลาประมาณ 3 ชม. นอกเหนือจากการเที่ยวถ้ำแล้ว เรายังได้เที่ยวชมน้ำตกลำคลองงูที่ไหลออกมาจากปากถ้ำเสาหิน เป็นชั้นน้ำตกหินปูนที่มีความงามไม่น้อย การเตรียมในการเดินทางเราต้องออกเดินทางจากที่พักไปตั้งแต่เช้า เพราะไม่งั้นอาจกลับออกมาถึงมืดก็ได้ และส่วนใหญ่มักเป็นเช่นนี้เสมอ

จุดเริ่มต้นท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของเส้นทางถ้ำอยู่ที่ หน่วยฯ เขาพระอินทร์ ที่บ้านเขาพระอินทร์ เป็นหน่วยย้อยของอุทยานชาติลำคลองงู

การเดินทางจากหน่วยเขาพระอินทร์ไปยังถ้ำเสาหิน ก็มีระยะทางไกลไม่น้อย เราต้องออกจากหน่วยตั้งแต่ 8 โมงเช้า ต้องเอารถส่งที่กลางไร่ ต่อจากนั้นก็เดินป่าไปยังถ้ำเสาหินที่มีระยะทางประมาณ 6 กม. จะยากตอนช่วงลงเขาที่เป็นหุบลำคลองงู จนได้ยินเสียงน้ำตกที่ปากถ้ำก็ใกล้ถึงไปทุกขณะ ใช้เวลาเกือบ 2 ชม. ก็มาถึงลำคลองงูที่เป็นน้ำตกหินปูนขนาดใหญ่ไหลดลหลั่นอยู่บริเวณปากถ้ำ เป็นน้ำตกที่สวยงาม หากว่าเป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมสักหน่อย คาดว่าจะต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งแน่นอน

เส้นทางผ่านไร่และบางช่วงเป็นเส้นทางป่าไผ่ มีร่องรอยเส้นทางรถยนต์อยู่บ้าง ปีถัดไปทางอุทยานฯ อาจปรับปรุงเส้นทางนี้ให้ดีขึ้น เพื่อจะได้ร่นระยะทางเดินป่าให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะขาไปก็ดูไม่ยาก เป็นเส้นทางลงเขา แต่ขากลับนั้นก็บ่งชัดให้รู้ว่าต้องเดินขึ้นเขายาวทีเดียว

เรามาถึงบริเวณน้ำตกลำคลองงูที่ทุกคนต่างออกปากชื่นชมว่าเป็นน้ำตกที่สวย บางคนยังบอกว่าน่าจะมาพักตั้งแค้มป์กันสักคืน แต่พอนึกสภาพการเดินทางอย่างนี้แล้ว ก็ห่วงตรงที่ต้องขนอุปกรณ์แค้มป์ว่าคงต้องหนักกว่าเดิมมาก

บรรยากาศแห่งสายน้ำที่ชุ่มฉ่ำ กิจกรรมแรกก่อนเข้าถ้ำก็หนีไม่พ้นกับการเล่นน้ำตก ใครที่ใคร่ถ่ายภาพก็เลือกหามุมถ่ายภาพได้สวยๆ อยู่หลายมุม ต่อจากนั้นก็ต้องทานข้าวเที่ยง แม้ว่าดูจะยังไม่เที่ยงดีนัก แต่เนื่องจากเราต้องใช้เวลาอยู่ในถ้ำหลายชั่วโมง กว่าจะออกมาอีกหนึ่งก็บ่ายจัดๆ หากว่าจะนำอาหารเข้าไปทานในถ้ำก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะมืด ไม่สะดวก ต้องว่ายข้ามน้ำอาจเกิดสิ่งสกปรกขึ้นมา เพราะถ้ำแต่ละถ้ำจะมีขี้ค้างคาวที่ไม่เหมาะกับจะทานอะไรกันในถ้ำ

เราต้องข้ามน้ำตกไปฝั่งด้านขวาและปีนป่ายหินไปยังปากถ้ำ จะเห็นสายน้ำที่ไหลออกมาเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกจุดหนึ่ง จนกระทั่งถึงปากขนาดใหญ่ที่เรามองเห็นสายน้ำไหลออกมา เจ้าหน้าที่นำทางได้เช็กทุกคนได้สวมชูชีพให้กระชับ มีสายรั้งขาเพื่อไม่ให้ชูชีพลอยหลุดออกจากตัว จุดแรกเจ้าหน้าที่จะว่ายน้ำตัดไปทางด้านขวา แล้วให้นักท่องเที่ยวตามเข้าไป

สัมผัสแรกเรารู้ได้ทันทีว่าน้ำนั้นเย็นยะเยือกแค่ไหน ต่อจากนั้นก็ไต่ตามโขดหิน เป็นจุดที่เราไม่ชอบเลย เพราะตามพื้นหินจะเต็มไปด้วยขี้ค้างคาวมาก มีกลิ่นรุนแรงมาก หากว่ามีผ้าปิดปากปิดจมูกไว้ ดูว่าจะช่วยกลิ่นได้พอประมาณและยังช่วยลดเชื้อโรคจากขึ้ค้างคาวลงไปได้บ้าง ข้ามน้ำอีกจุดหนึ่ง ลอยตัวเกาะผนังถ้ำไปทางด้านขวามือ จะเป็นช่วงระดับน้ำที่ลึกมาก กระแสน้ำไหลแรง เราจึงเลี่ยงมาเลาะตามแนวผนังถ้ำจนถึงช่วงที่ยากที่อยู่ใต้แก่ง เจ้าหน้าที่จะใช้เชือกโยงเพื่อให้เราสาวเชือกข้ามน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ให้เราได้ข้ามได้ง่ายและปลอดภัยด้วย

แสงไฟที่คาดหัวให้ความสว่างได้เพียงพอ ซึ่งแต่ละคนต้องมีติดตัว ยิ่งในช่วงที่ต้องไต่ตามโขดหินทั้งลื่นทั้งยาก ต้องระวังเป็นพิเศษ สายตาที่เรามองเห็นก็เพียงไม่กี่เมตร สภาพเส้นทาเดินในถ้ำนั้นบอกว่ายาก ต้องไต่เกาะกันไปช้าๆ กว่าจะถึงเป้าหมายได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร ทั้งๆ ที่มีระยะทางจากปากถ้ำถึงเสาหินประมาณ 200 เมตร เท่านั้น

ภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้า ด้วยแสงไฟที่สาดส่องไฟไปเห็นเสาหินขนาดสูงใหญ่ มีโคนเสาหินเริ่มจากบริเวณริมน้ำพื้นถ้ำ ขึ้นไปยันติดเพดานถ้ำ เป็นเสาหินที่เป็นจุดเด่นของถ้ำแห่งนี้ และมีการวัดระยะความสูงมาแล้ว ว่าเป็น เสาหินที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงประมาณ 62.5 เมตร

ลักษณะของเสาหิน คือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของหินงอกหินย้อยที่เกิดสะสมหินปูนจนก่อตัวเป็นรูปเสาสูงใหญ่ขึ้นมา ตัวเสาหินจะมีลักษณะคล้ายการไหลของหิน FLOW STONE  อยู่รอบๆ ตัวเสาหินด้วย

บริเวณฐานของแท่งเสาหินมีขนาดกว้างใหญ่ติดกับผนังถ้ำ ถัดขึ้นไปก็เป็นที่เรียวเล็กตามลำดับความสูง จนกระทั่งถึงปลายยอด ส่วนตามเสาหินจะมีลักษณะเป็น FLOW STONE ราวกับชั้นน้ำตกเล็กๆ ที่ก่อขึ้นตามรอบเสา

ในเมื่อเรามาได้ชมเสาหินที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้แล้ว เราก็ต้องบันทึกเก็บเอาไว้ด้วย ทำอย่างไรที่จะถ่ายภาพให้เต็มยอดเสา ก็ต้องใช้เลนส์ไวด์ขนาด 20 มม. ตั้งขาตั้งกล้อง และปรับความชัตเตอร์ที่ B เปิดรับแสงสัก 4-5 นาที โดยมีการสร้างแสงขึ้นจากแสงไฟฉายที่ช่วยกันส่องไล่ตามเสาหินอย่างช้าๆ โดยเน้นปริมาณที่ยอดเสาให้มากๆ หรือจะยิงแฟลชเข้าช่วยอีกทางหนึ่งก็จะเป็นผลให้ภาพออกมาได้ตามที่ต้องการ แต่ภาพที่ออกมานั้นก็ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์จินตนาการด้วยการแต่งแสงแต่งองค์ประกอบเข้า

ภายในถ้ำเสาหินสิ่งที่โดดเด่นที่สุด แท่งเสาหินที่สูงที่สุดในโลก สูงถึง 62.5 เมตร รองลงมาก็เป็นเจ้าสัตว์ประหลาดที่อยู่ภายในถ้ำแห่งนี้ จะหาได้ก็บริเวณเสาหินนั่นเอง คือ  แฮรี่ แมรี่ เป็นแมลงที่มีขามาก ดูน่าเกลียดน่ากลัวทีเดียว แต่โดยนิสัยแล้วมันเป็นสัตว์ขี้อาย ไม่มีพิษภัยแต่อย่างใด อาศัยอยู่ภายในถ้ำมืด

ช่วงขากลับออกจากถ้ำเสาหินเราต้องแวะความมหัศจรรย์ของหินงอกที่มีลวดลายหินอย่างงามแปลกตา จะเป็นหินที่มีลวดลายคล้ายลายไม้  ยิ่งถ้าเอาน้ำมาลูบให้ทั่ว จะเกิดมันเงามีลวดลายขึ้นเด่นชัด จึงเป็นจุดที่ที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักผ่านเลยไปอยู่เสมอ

เมื่อออกจากถ้ำมาถึงน้ำตก หลายๆ คนต้องใช้วิธีการเดินลัด ด้วยการกระโดดน้ำตกลงไปเลย จากนั้นก็เล่นน้ำจนเหมาะกับเวลา จึงได้เดินทางกลับที่พัก เพราะวันรุ่งขึ้นเรายังต้องไปค้นหาความงามใต้ภิภพที่ถ้ำนกนางแอ่น ถ้ำน้ำตกกันอีกข้อมูลการเดินทาง
ควรเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว กาญจนบุรี แล้วต่อไปยังทองผาภูมิ จากนั้นเลี้ยวไปยังสังขละบุรี ถึงแยกพุทโธ บริเวณ กม.ที่ 26 เลี้ยวขวาไปยังบ้านทิพุเย ไปบ้านห้วยเสือ จะเห็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติลำคลองงูอยู่ริมถนน (เป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) นักท่องเที่ยวต้องเข้าไปติดต่อที่ตรงนี้ ส่วนที่น้ำตกนางครวญจะเป็นที่ทำการใหม่

การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ตู้ ปณ. 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 71180
สามารถติดต่อเรื่องการเที่ยวถ้ำ อาหาร และที่พัก ได้พร้อมกันทีเดียว

ที่พัก
มีที่พักของอุทยานแห่งชาติลำคลองงู หน่วยเขาพระอินทร์ เป็นบ้านพักพอพักกันได้แบบง่ายๆ หรือเราจะไปกางเต็นท์ก็ได้เช่นกัน

อาหาร
เพื่อความสะดวกในการท่องเที่ยวถ้ำที่เราต้องใช้เวลาเกือบทั้งวัน คงไม่มีเวลามานั่งทำอาหารกันเอง คงต้องสั่งจากอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ที่มีบริการไม่แพงมากนัก

ช่วงฤดูกาลที่เปิดเที่ยวถ้ำ
อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จะเปิดให้เที่ยวถ้ำทั้ง 3 แห่ง เริ่ม 1 มีนาคม ไปสิ้นสุดราวกลางเดือนพฤษภาคม บางถ้ำอาจปิดก่อน หรือขึ้นอยู่กับสภาพฝนที่ทำให้น้ำในถ้ำมีระดับสูง จนอาจเกิดอันตรายขึ้นมาได้

อุปกรณ์การเข้าถ้ำ
– ชูชีพทางอุทยานแห่งชาติลำคลองงูมีให้เช่า นักท่องเที่ยวควรจัดหาไฟฉายกำลังไฟแรงๆ แบบคาดหัวก็จะดีมาก และควรติดไฟฉายกระบอกเล็กๆ เป็นไฟฉายสำรองไปด้วย

– เสื้อผ้าที่สวมใส่เข้าถ้ำ ควรเป็นผ้าที่เบาและแห้งเร็ว และสวมใส่กระกระชับ หากใครมีเว็ทสูทสำหรับดำน้ำ ก็นำมาใช้ได้ ควรใส่เฉพาะตอนเข้าถ้ำเท่านั้น จะช่วยป้องกันหนาวและป้องกันการกระแทกได้ดี

– อุปกรณ์สนับแข้ง หมวกกันกระแทก รองเท้าเดินป่าที่สามารถลุยน้ำได้ ปีนหินได้ ควรเลือกเป็นรองเท้ายางหรือรองเท้าพลาสติก

– ถุงมือ เนื่องจากถ้ำบางถ้ำมีหินที่แหลมคมมาก จับไปจับมาอาจได้แผลโดยไม่รู้ตัว

– หากมีผ้าคาดจมูกติดไปด้วยก็ดี อาจดูยุ่งยากสักนิด แต่ช่วงที่เข้าถ้ำเสาหินจะมีกลิ่นขี้ค้างคาวที่รุนแรงมาก ผ้าคาดจมูกน่าจะช่วยอะไรได้มากทีเดียว

– น้ำดื่มควรมีติดเข้าไปด้วย เนื่องจากเราไม่ควรดื่มน้ำในลำธาร เพราะมีสารปนเปื้อนหลายประเภท จึงไม่ควรดื่มเลย

– สำหรับคนที่รู้ตัวว่าเป็นตะคริวได้ง่าย ควรหาเกลือแร่ผสมน้ำดื่ม ก่อนเข้าถ้ำ จะช่วยลดาอาการตะคริวได้ดี

– สำหรับอุปกรณ์ป้องกันกล้องกันน้ำเข้า ควรใช้ถุงกันน้ำ DRY BAG ของยี่ห้อ KARANA สามารถป้องกันน้ำเข้าได้เป็นอย่างดี และสามารถพาไปลุยน้ำลอยน้ำได้ตลอดรอดฝั่ง

ถ้ำ….เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติใช้เวลาในการสร้างสมนานนับร้อยปีพันปี ลักษณะการเกิดถ้ำเกิดจากลาวาของภูเขาไฟเคลื่อนตัว โดยภายนอกของลาวาที่เคลื่อนตัวจะเย็นลงอย่างรวดเร็วและแข็งแรง และแข็งตัวในขณะที่ภายในยังหลอมเหลวอยู่ และเคลื่อนตัวต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็นท่อกลวงอยู่ภายในถ้ำ หรืออีกประเภทหนึ่งเกิดจากแรงกระแทกของคลื่นใต้น้ำ โดยกระแสคลื่นจะกัดเซาะในตำแหน่งที่อ่อนที่สุดของหินจนเกิดเป็นถ้ำหรือเป็นโพรงลึกเข้าไปใต้ภูเขา

สิ่งที่น่าสนใจภายในถ้ำ
การเที่ยวถ้ำแต่ละครั้งเราควรได้รับรู้ข้อมูลที่น่าสนใจก่อนเข้าถ้ำ ว่าแต่ละถ้ำแต่ละแห่งนั้นมีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง

  1. น้ำขาม เป็นภาษาทางภาคเหนือที่เรียกน้ำที่ละลายหินปูน มีภาษาทางเคมีเรียกว่า แคลเซียมไอออน เราจะเห็นเป็นหยดน้ำจากหินงอกหินย้อย หรือเพดานถ้ำ
  2. หินงอก เกิดจากน้ำใต้ดิน เป็นกรดคาร์บอนิค ได้ละลายหินที่เป็นแคลไซด์หรือแคลเซียมคาร์บอเนต แล้วเจือปนมารวมกันเรียกว่า แคลเซียมไบคาร์บอเนต ต่อจากนั้นจะไหลไปตามเพดานถ้ำแล้วหยดลงสู่พื้นถ้ำ เมื่อน้ำระเหยไปก็เหลือแคลเซียมคาร์บอเนตผลึกจับตัวกัน มีรูปร่างกลมปลายมน
  3. หลอดหินย้อย บางแห่งก็เรียกว่า ท่อหินย้อย หรือ หลอดดูดน้ำ ลักษณะการเกิดก็เช่นเดียวกับหินงอก ก่อตัวย้อยลงมาจากเพดานถ้ำคล้ายหลอดดูดน้ำที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กมากเพียง 5 มม. มีความเปราะบางมาก
  4. หินย้อย ลักษณะการเกิดมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องมาจากหลอดหินย้อย คือภายในหลอดหรือท่อหินย้อยอุดตัน น้ำก็จะหยุดไหลมาตามผิวนอกแทนการไหลมาตามรูภายในท่อ และเมื่อน้ำได้ระเหยแห้งไปแล้ว แร่ธาตุที่ตกตะกอนอยู่ก็จะเคลือบหุ้มหลอดหรือท่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
  5. เสาหิน เกิดจากหินย้อยยาวลงมาจรดพื้น หรือหินงอกยาวขึ้นไปจนถึงเพดานถ้ำ หรือหินงอกหินย้อยที่อยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามนั้นต่างยาวเพิ่มขึ้นจนเชื่อมต่อกัน
  6. แท่งเข็ม เป็นหินที่มีรูปร่างเหมือนแท่งแก้วที่มีความเปราะบางและแตกหักได้ง่าย เกิดตามพื้นถ้ำ
  7. น้ำตกหินปูน เกิดจากสายน้ำได้ไหลแผ่บางๆ และสม่ำเสมอ ผ่านลาดไปตามผนังถ้ำ พื้น หรือหินงอกหินย้อย และเมื่อน้ำแห้ง ก็จะกลายเป็นแผ่นหินปูนบางๆ ฉาบผิววัตถุนั้นดูคล้ายน้ำตก
  8. ทำนบหินปูน พบตามบริเวณพื้นถ้ำ หรือตามแนวทางน้ำไหล โดยตะกอนหินปูนที่สะสมรวมตัวกัน มีลักษณะเหมือนเขื่อนที่กักเก็บน้ำหรือขั้นบันได จะเกิดพอกพูนใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ภายในพื้นที่ที่หินปูนล้อมรอบอยู่จะกลายเป็นแอ่ง
  9. ม่านหินปูน เกิดจากน้ำไหลหยดไปบนผิวผนังถ้ำที่เอียง หยดน้ำทีละหยดที่ไหลผ่านไปตามแนวเดิมนั้น จะจับตัวก่อเกิดเป็นแผ่นบางๆ คล้ายผ้าม่านและมักจะโปร่งแสง จากนั้นจะงอกยาวลงมาเรื่อยๆ จนมีความยาวได้หลายเมตร
  10. หินคดหรือหินเกลียว เป็นหินปูนที่มีรูปร่างบิดเป็นเกลียวคล้ายตัวหนอน งอกออกมาจากผนังถ้ำ พื้น หรือจากหินงอกหินย้อย สาเหตุการเกิดมีหลายประการด้วยกันได้แก่ เกิดจากน้ำที่ไหลหยดอย่างช้าๆ เมื่อระเหยก็จะเกิดการตกผลึกเป็นตะกอนตอนปลายในตำแหน่งต่างๆ กันไป
  11. ดอกไม้หิน เป็นหินงอกที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ พบบนผนังถ้ำที่ค่อนข้างแห้ง
  12. ฟองหิน เป็นกลุ่มหินก้อนเล็กๆ ที่มีผิวตะปุ่มตะป่ำ โดยมีขนาดรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น คล้ายกะหล่ำปี คล้ายปะการัง เป็นต้น มักเกิดบนผนังถ้ำในส่วนที่เคยมีน้ำท่วมถึง
  13. ไข่มุกถ้ำ เป็นก้อนแร่กลมสีขาวบริสุทธิ์หรืออาจเป็นสีอื่น เกิดจากแร่แคลไซด์ในหยดน้ำได้จับตัวกับวัตถุอื่นๆ เช่น กรวดทราย แล้วกระแสน้ำที่กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลาจากหยดน้ำที่หยดลงมาหรือจากน้ำไหล จะเป็นผู้ขัดเกลาเสียดสีจนมีรูปร่างกลมกลึง
  14. หินรูปเขี้ยว เกิดขึ้นบนพื้นบริเวณที่เคยมีน้ำท่วมถึง โดยจะก่อเกิดเป็นผลึกรูปสามเหลี่ยม รูปพีระมิด หรือคล้ายเขี้ยวสุนัข
  15. แร่แคลไซด์ จะจับเกาะอยู่ตามกลุ่มหินต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เมื่อถูกแสงสาดส่องกระทบจะเกิดเป็นประกายแวววาวดั่งกากเพชร

กฎข้อห้ามในการเที่ยวถ้ำ

  1. ห้ามแตะต้องกลุ่มหินต่างๆ ภายในถ้ำ เช่น หินงอก หินย้อย เพราะไขมันที่เกิดจากเหงื่อของตัวเราจะทำปฏิกิริยากับหินเหล่านี้ จนทำให้มันหยุดการเจริญเติบโตหรือที่เรียกว่า หินตาย
  2. ห้ามตีหรือเคาะหิน
  3. ห้ามสูบบุหรี่ ก่อไฟ และจุดธูปเทียน เพราะจะทำให้ออกซิเจนซึ่งมีอยู่น้อยกลับลดน้อยลงไป
  4. ห้ามนำอาหารใดๆ เข้าไปรับประทานภายในถ้ำ
  5. ห้ามส่งเสียงดังหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวน หรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์
  6. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ
  7. ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ทาสี หรือปิดประกาศ
  8. ห้ามปลดทุกข์ไม่ว่าจะหนักหรือเบา
  9. ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใดๆ ออกมาจากถ้ำ
  10. ห้ามกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
  11. ห้ามตั้งแค้มป์พักแรมภายในถ้ำ
  12. ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด

เชิญแสดงความคิดเห็น