ดอยปุยหลวง

0

ขุนเขาทุ่งหญ้าทะเลหมอกที่ดอยปุยหลวงเปิดศักราชปีใหม่ด้วยไปค้นหาภาพความงามของดอยปุยหลวง หรือดอยคุยหลวง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา ที่มีพื้นที่อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก

จุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อค้นหาภาพความงามของขุนดอยปุยหลวง อยู่ที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา เป็นอุทยานฯ ที่มีจุดพักตั้งแคมป์ที่สวยงามท่ามกลางป่าสักธรรมชาติ และบรรยากาศสายน้ำแม่เงาที่ไหลผ่าน ก่อนที่จะไปบรรจบกับลำน้ำยวมต่อไป ชื่อดอยปุยหลวงแห่งนี้ ค่อนข้างจะสับสนชื่อกับดอยปุยหลวง บ้านห้วยฮี้ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีชื่อเหมือนกัน ดังนั้นอาจต้องจำแนกไปเป็นดอยปุยหลวงแม่เงาก็น่าจะแบ่งแยกได้ชัดเจนที่สุด

การเดินทางสำรวจยอดปุยหลวง ในอุทยานแห่งชาติแม่เงา เป็นการค้นหาภาพทะเลหมอกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย  เราต้องหาโอกาสจังหวะช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม  ควรเป็นช่วงฤดูหนาวภาพของทะเลหมอที่เกาะตัวกันแน่น รวมถึงทุ่งหญ้าสีทอง พระอาทิตย์ดวงกลมโต และความหนาวเย็นที่เป็นบรรยากาศของการเดินทางท่องเที่ยวป่า“คุณต้องไปเริ่มต้นเดินป่าที่บ้านกะเหรี่ยงแม่หลุยหลวง ต้องใช้รถโฟร์วิลเข้าไปส่ง และเริ่มเดินจากหมู่บ้านใช้เวลาประมาณ  4-5 ชั่วโมง ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง และถ้าจะเอาลูกหาบ ก็จะจัดหาให้”

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา ได้ชี้แจงข้อมูลการเดินป่าดอยปุยหลวง ที่เราได้เลือกเส้นทางเดินป่าขึ้นดอยปุยหลวง โดยใช้เวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อพิสูจน์หาความงามของขุนเขาและสายหมอกที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก แต่  เริ่มต้นจากอุทยานฯ แม่เงา  ไปยังบ้านแม่หลุยหลวง ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงกับระยะทาง 20 กม. บางช่วงต้องใช้ทักษะการขับออฟโรดเต็มรูปแบบ เส้นทางสูงชัน ทางแคบ กว่าจะถึงหมู่บ้านก็ลุ้นจนเหงื่อตกเหมือนกัน ผืนฟ้าที่อึมครึมเป็นสีขาวเทา ไม่มีแสง ผืนฟ้าถูกปกคลุมด้วยกลุ่มเมฆหมอก จนหวั่นใจไปว่าสภาพอากาศที่เห็นแจ่มใสที่ผ่านมา ต้องเป็นมาเช่นนี้ซึ่งจะส่งผลให้สภาพอากาศที่ดอยปุยหลวงต้องเปลี่ยนไปเป็นความขุ่นมัว  “เป็นหมอกอย่างนี้ทุกวัน กว่าจะเห็นแสงแดดได้ก็เกือบเที่ยงเลยครับ”

กะเหรี่ยงในหมู่บ้านแม่หลุยหลวงบอกให้เราทราบ จึงโล่งใจว่าสภาพอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามที่คิด และก็เป็นสิ่งที่ดีว่าตอนเดินป่า เพราะอากาศไม่ร้อน แม้ว่าจะเป็นยามสายแล้ว ทำให้เราเดินป่าได้สบาย และน่าเป็นที่ดีใจที่เราได้ยินเสียงชะนีร้องโหยหวนอยู่ในป่า ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผืนป่านี้ยังสมบูรณ์มาก และชุมชนหมู่บ้านก็ยังช่วยดูแลรักษาธรรมชาติให้คงอยู่

การเดินป่าครั้งป่ามีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำทาง และมีกะเหรี่ยงหนุ่มบ้านแม่หลุยหลวงเป็นลูกหาบช่วยแบกสัมภาระอาหาร อุปกรณ์แคมป์ที่ต้องใช้พักพักแรมบนยอดดอยปุย ระหว่างทางเราผ่านไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง จนกระทั่งเข้าสู่ป่าดงทึบ ที่เราเริ่มเห็นแสงตะวันและผืนฟ้าสีครามขึ้นมาบ้างแล้ว  และเราได้หยุดพักกินข้าวเที่ยง ก่อนที่จะต้องผ่านทางสูงชันยาวของแนวเทือกอีก 2 ลูก

ลักษณะสภาพป่าบนแนวเทือกดอยปุยหลวง (หรือดอยคุยหลวง) มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าก่อ จะพบกล้วยไม้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสกุลสิงโต สกุลเอื้อง ฟ้ามุ่ย  และที่สะดุดตามากๆ ก็เป็น เอื้องแซะหลวง เป็นกล้วยไม้ที่มีกลิ่นหอมมาก ในสมัยโบราณเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนจะนำไปถวายเป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้าเมืองเชียงใหม่

ข้ามเนินยอดเขาลูกที่สองไปแล้ว เราก็ได้เห็นแนวเทือกดอยปุยหลวง ที่เป็นทุ่งหญ้าบนสันเขา มีแนวทางเดินจนมาถึงสันดอยที่เป็นทุ่งหญ้า มองเห็นยอดเขาอยู่ไม่ไกลนัก ส่วนทางด้านหุบเขาก็เป็นป่าดงทึบและเป็นหุบเขามองเห็นซอกหลืบน้ำตกโอโละโกร ลักษณะสภาพป่ายังคงเป็นดงทึบ ยังได้ยินเสียงนกกกร้องอยู่ไม่ไกลนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นป่าแห่งนี้ยังมีระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ ร่องรอยขี้สัตว์ผู้ล่าก็มีให้เห็นอยู่ด้วย

เราเลือกพักตั้งแคมป์บนสันดอยที่เป็นทุ่งหญ้าก็น่าจะดีที่สุด เพราะจะได้เห็นพระอาทิตย์ตก แล้วก็จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นในบริเวณเดียวกัน อีกทั้งช่วงยามเช้าก็จะเห็นทะเลหมอกขึ้นอยู่ในหุบเบื้องหน้านี้เอง

ส่วนน้ำทางบุญส่งและนพดลก็ลงไปหา เราเลือกหาทำเลตั้งแคมป์แล้ว ก็เลือกหามุมถ่ายภาพในยามพระอาทิตย์ตก โดยขึ้นไปยังยอดเขาสูง มีระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นทำเลที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบด้าน มองเห็นแนวสันดอยที่เป็นทุ่งหญ้าและมีเหลี่ยมผาที่สูงชัน คล้ายกับดอยม่อนจอง

ยามเย็นที่เราเฝ้ารอแสงสีทองสาดลงทุ่งหญ้า ภาพที่เห็นจึงเป็นทุ่งหญ้าสีทองอร่ามสดสวยกว่าแสงธรรมดา กระทั่งพระอาทิตย์ใกล้ลับเหลี่ยมเขา ภาพความงามของสีสันในธรรมชาติบนดอยก็ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพระอาทิตย์จะพ้นหลังเขาไปแล้ว สีสันที่ปรากฏบนผืนฟ้าก็ยังสวยสดอยู่เสมอ พระจันทร์ดวงเสี้ยวสว่างสดใสอยู่บนพื้นสีที่เราเฝ้าดูอย่างตลอดเวลา จนสิ้นสุดเมื่อความมืดเข้ามาครอบคลุม

คืนดาวกระจ่างฟ้า ยิ่งเป็นคืนเดือนมืดเราสามารถมองเห็นดงดาวพร่างพราวเต็มผืนฟ้า ทีแรกคิดว่าจะมานอนดูหนาว แต่มิอาจต้านลมหนาวได้จึงต้องเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในเต็นท์ในถุงนอนซะดีกว่า ราวตี 5 กว่าๆ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสช่วงเวลาที่สำคัญในการบันทึกภาพแสงสีในห้วงยามเช้า เปิดประตูเต็นท์ออกมาเราก็เห็นทะเลหมอกเกาะตัวอยู่หนาแน่น อยู่ในหุบเขาเบื้องหน้านั่นเอง แต่มุมถ่ายภาพเราอยู่บนมุมสูงที่ต้องเดินขึ้นไปยังยอดเขา สามารถมองเห็นสันทุ่งหญ้าและผืนทะเลหมอกอันกว้างไพศาลได้อย่างมีมิติ

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ผืนฟ้าเริ่มสว่างขึ้นพร้อมถ่ายทอดแสงสีออกมาอย่างงามตา เราได้เห็นปุยหมอกสีขาวกอดตัวสงบนิ่งอยู่ในหุบเขาเบื้องล่าง แสงสีทองเริ่มสาดจับผืนทุ่งหญ้าจนกลายเป็นสีเหลืองทอง ความงดงามที่ปรากฏจึงเป็นภาพที่ก่อตัวรวมกันทั้งผืนทะเลหมอก ทุ่งหญ้าสีทอง ผืนฟ้าที่ขับสีออกมา จึงภาพที่สวยงามที่ลงตัวอย่างสุดยอดทีเดียว

ภาพความงดงามที่เกิดขึ้นดอยดอยปุยหลวงนี้  จะมีปัจจัยของด้านสภาพธรรมชาติที่เป็นผืนป่าแหล่งขุนน้ำ มีป่าทึบ มีหุบเขาที่ไม่เป็นช่องลม ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นจึงทำให้เกิดทะเลหมอกขึ้นอย่างที่ได้เห็นอย่างหนาแน่น แม้ว่าตะวันจะสายไปนานแล้ว ทะเลหมอกก็ยังสงบนิ่งเป็นปุยขาวครอบคลุมอาณาจักรขุนเขาอย่างกว้างใหญ่ดอยปุยหลวง หรือ ดอยคุยหลวง เป็นแนวเทือกดอยที่มีอาณาเขตติดต่อกับป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ดังนั้นเราจึงได้เห็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เดินไปมาหาสู่ระหว่างบ้านแม่แพหลวง บ้านแม่หลุยหลวง ทางฝั่งแม่เงากับบ้านยางเคียน เขตอำเภออมก๋อย โดยมีเส้นทางเดินป่าที่ชัดเจนราวกับเป็นเส้นทางหลวงนั่นเอง ดอยปุยหลวง อุทยานแห่งชาติแม่เงาที่เราได้พบเป็นความอลังการแห่งขุนเขาในรูปแบบทะเลหมอกและทุ่งหญ้าสีทองที่งดงาม  เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติแห่งใหม่ที่ยังรอให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง ยิ่งเป็นช่วงหน้าหนาว รับรองว่า ทะเลหมอกนั้นงามแท้ๆ ทีเดียว   

ข้อมูลการเดินทาง
กรุงเทพฯ-อช.แม่เงา เป็นระยะทางที่ไกลมาก ไม่มีรถทัวร์ประจำทางจากกรุงเทพฯ ผ่าน เราต้องเลือกใช้เส้นทางรถสายกรุงเทพฯ-แม่สะเรียง จากแม่สะเรียง-บ้านแม่เงา ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 มายังบ้านบ้านแม่เงา อ.สบเมย  เป็นระยะทาง 40 กม. แล้วแยกเข้าอุทยานฯ อีก 4 กม.

หรือจะให้สะดวกก็เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือเช่ารถตู้มาเอง จะเลือกมาทางแม่สอด-ท่าสองยาง- บ้านแม่เงา-อช.แม่เงา ก็ได้ หรือจะใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฮอด-แม่สะเรียง- อ.สบเมย-บ้านแม่เงา-อช.แม่เงา

จากอช.แม่เงา-บ้านแม่หลุยหลวง ระยะทาง 25 กม. ช่วงแยกเข้าหมู่บ้านสภาพเส้นทางสูงชัน ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ สามารถติดต่อผ่านอช.แม่เงา ช่วยหารถไปส่งไปรับได้

การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่เงา บ้านแม่เงา หมู่ 8 ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 58110

ช่วงเวลาที่เหมาะสม
ควรเลือกเที่ยวดอยปุยหลวงช่วงฤดูหนาวหรือช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกทิ้งช่วง เพราะจะได้พบกับทะเลหมอกอย่างงามตาทีเดียว ช่วงเวลาในการเที่ยวป่าในเส้นทางสายนี้ก็ 2 วัน 1 คืน

เชิญแสดงความคิดเห็น