คลองขนมหวาน

0

เลาะริมคลอง..ลองชิมขนมหวานไทย

ภายหลังจากที่ดูเอเซียได้พาทุกคนไปท่องเที่ยวกับเกาะเกร็ด เมืองนนทบุรีกันมาแล้ว อย่างที่บอกไปครับ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ วัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรมไทยที่ยังคงอยู่และรักษาไว้ได้ดี   มาเยือนที่เกาะแห่งนี้แล้วรับรองว่าคุณจะมีความรู้สึกเหมือนตัวเองย้อนกลับไปอยู่ในสมัยอยุธยายังไงยังนั้นเลยครับ จริงนะไม่ได้โม้!!!นอกจากที่ผมได้แนะนำบรรยากาศไปอย่างคร่าวๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือ ในส่วนของ  “คลองขนมหวาน” สำหรับสถานที่แห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้ เกาะเกร็ดได้เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดลำน้ำเจ้าพระยาตรงที่เป็นแหลมยื่นออกไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2265 เรียกคลองนี้ว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” ซึ่งต่อมากระแสน้ำได้เปลี่ยนทิศทางทำให้คลองขยายกว้างขึ้นเพราะถูกความแรงของกระแสน้ำ เซาะตลิ่งพังจึงกลายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด และเกาะเกร็ดในสภาพปัจจุบัน  ซึ่งเมื่อลำคลองลัดกว้างขึ้น สภาพความเป็นเกาะจึงเห็นเด่นชัดโดยมีชื่อเรียกในขั้นแรกว่า “เกาะศาลากุน” จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้ว เกาะนี้จึงมีชื่อว่า เกาะเกร็ด จวบจนปัจจุบัน

การเดินทางท่องเที่ยวตามลำคลองโดยรอบเกาะเกร็ดนั้น ไปได้ไม่ยากเลยครับ ท่านสามารถจองทริปที่พาทัวร์ ซึ่งมีราคราที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับวันนี้ ผมจะพาทุกคนไปเที่ยวแบบประหยัดให้เหมาะกับยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองซะหน่อย  ราคาค่าหัวคนละ  60  บาทเท่านั้นครับ ทางเรือจะพาท่านไปแวะตามสถานที่ที่อยู่ริมน้ำหลายที ตั้งแต่ คลองขนมหวาน,บ้านขนมไทย ,แหล่งเรียนรู้ผ้าบาติก,วังมัจฉา,วัดโบราณอีกมากมาย

และที่ถือเป็นจุดเด่นของ เกาะเกร็ดนั่นก็คือ คลองขนมหวาน  ซึ่งเป็นคลองที่มีบ้านริมน้ำหลายต่อหลายบ้าน หลายต่อหลายครอบครัวนิยมทำขนมไทย หรือขนมหวานนานาชนิดกัน ถือว่าเป็นแหล่งรวมความอร่อยของขนมไทยและอาหารไทยโบราณก็ว่าได้ ซึ่งทีแรกที่เราไปแวะในทริปนี้ก็คือ บ้านขนมไทยคุณแอ๋ว   สำหรับที่บ้านคุณแอ๋วนั้น คุณจะมาได้ก็ต่อเมื่อคุณมาล่องเรือเท่านั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาที่เกาะเกร็ดถ้าได้มีโอกาสล่องเรือ ก็จะต้องมาที่นี่แทบทุกคน บรรยากาศของบ้านคุณแอ๋ว คล้ายกับร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั่วไป แต่ลักษณะของบ้านจะเป็นแบบบ้านไม้โบราณ ยังคงความเป็นบ้านยกสูงแบบคนริมคลอง ขึ้นไปบริเวณชั้นบน ก็จะพบกับขนมไทย นานาชนิด อาทิ ขนมจ่ามงกุฎ,ขนมสันปันนี,ขนมเสน่จันทน์,ขนมทองเอก,ฝอยทอง,ทองหยิบ.ทองหยอด และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้ยังมีอาหารไทยที่หากินยาก อาทิ ข้าวแช่สูตรชาววังโบราณ,ข้าวแกง,ขนมจีนน้ำยา,แกงคั่วหอยขม,มัสมั่นหมูใส่สับปะรด ฯลฯ

ที่ “บ้านคุณแอ๋ว” รู้สึกถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ที่นี่ยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจด้วย โดยผมมีโอกาสได้เจอกับ คุณแอ๋วเจ้าของบ้าน ซึ่งเธอบอกว่า “ความจริงแล้วสมัยก่อนร้านเราขายขนมหวานอยู่ที่ตลอด อตก. ค่ะ แต่พอตั้งแต่ที่เกาะเกร็ดเริ่มพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น ทางผู้ใหญ่ก็แนะนำให้เรามาขายอยู่ทีตรงนี้เลย ซึ่งเป็นบ้านของเราที่อยู่มาตั้งนานแล้วค่ะ”

สำหรับที่บ้านคุณแอ๋ว คุณจะมีเวลาอยู่ที่นี่ประมาณครึ่งชั่วโมง  และที่นี่เค้าก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย สำหรับคนที่สนใจดูการสาธิตทำขนมหวานไทย ก็เชิญได้ที่ด้านหลังของบ้าน นอกหเนือจากนี้ ก็ยังมีการสาธิตจัดขบวนขันหมากและการทำขนมมงคล 9 อย่างด้วย ถือว่าคุ้มสุดๆ

แต่คลองขนมหวานคงไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ทริปล่องเรือครั้งนี้ ยังจะพาคุณไปที่ “สมชายบ้านทำขนมหวานไทย”  ที่นี่จะแตกต่างจากบ้านคุณแอ๋วเพียงเล็กน้อย เท่านั้น แต่บรรยากาศอาจจะไม่หรูหราอะไรมากนักแบบชาวบ้านจริงๆ ทำขนมหวานกันให้เห็นๆ เลย ทำทีเยอะด้วย อย่าง ขนมฟอยทองของที่นี่ เค้าบอกว่า ทำส่งขายทั่วประเทศ วิธีการทำของเค้าคือใช้เครื่องยนต์เลยครับ ให้ดูกันแบบของจริงไม่ต้องสร้างภาพ บรรยากาศของที่นี่ดูจะได้อารมณ์นิดนึง ผู้คนไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เพราะขายแต่ขนมส่วนในเรื่องของ ราคราจะถูกกว่า บ้านคุณแอ๋วมากครับ ขายส่งจริงๆ

และปิดท้ายทริปนี้ด้วยการไป ที่ แหล่งเรียนรู้ผ้าบาติก ซึ่งที่นี่เค้าก็มีผ้าบาติกลวดลายสวยงามขาย รวมไปทั้งดอกไม้ประดิษฐ์สีสวยงาม ราคาไม่แพงมากครับ  และ วังมัจฉา  ปล่อยให้นักท่องเที่ยว ซื้อขนมปังให้อาหารปลาก่อนจะขึ้นฝั่งกลับบ้าน

การเดินทางท่องเที่ยว
บ้านคุณแอ๋ว บ้านขนมไทย ติดต่อได้ที่ 02-584-5145,02960-8056

  1. ลงเรือที่ท่าเทศบาลปากเกร็ด
  2. ลงเรือที่ท่าวัดสนามเหนือ,วัดปรมัยยิกาวาส
  3. ลงเรือที่ท่าวัดกลางเกร็ด
  4. ลงเรือที่ท่าวัดแสงสิริธรรม
  5. ลงเรือที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี
  6. ลงเรือที่ท่าช้าง โดย เรือด่วน มิตรเจ้าพระยา
  7. ลงเรือที่ท่ามหาราช โดยเรือด่วน เจ้าพระยา
  8. ลงเรือที่ท่าเรือโรงแรมรอยัลริเวอร์ เชิงสะพานกรุงธน

ขอบคุณภาพ u6027520.bitweb.pongsawadi.ac.th 

เชิญแสดงความคิดเห็น