7 ที่สุด…อุทยานแห่งชาติไทย แรกสุด-ใหญ่สุด-สูงสุด-ฮิตสุด ฯ

0
น้ำตกเหวนรก เขาใหญ่ อุทยานแรกสุดของไทย

อุทยานแห่งชาติของไทยที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 140 แห่งนั้น เคยนับกันเล่นๆบ้างไหมว่ามีที่ไหนที่ได้ไปสัมผัสมาแล้วบ้าง และอุทยานแห่งนั้นมีความโดดเด่น น่าสนใจอย่างไร หากยังไม่รู้ “วาไรตี้ท่องเที่ยว” ได้รวบรวมที่สุดของอุทยานแห่งชาติมาฝากกัน

โดยได้ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้คัดเลือกอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นที่สุดในด้านต่าง ๆทั้งสิ้น 31 แห่ง มาจัดทำเป็นหนังสือ แต่เราได้คัดเลือกมาบางส่วนสำหรับที่สุดอุทยานที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน เผื่อแวะเวียนกันไป จะได้รู้ว่านอกจากธรรมชาติอันงดงามแล้ว เรื่องความเป็นที่สุดของอุทยานแห่งชาติเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

*แรกสุดของอุทยานแห่งชาติ

ประเดิมด้วยการพาลัดเลาะไปยัง “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่”จ.นครราชสีมา กันก่อน ผืนป่าเขาใหญ่คือร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่และดิบเถื่อนของป่าดงพญาไฟอันลือลั่นในอดีต ด้วยความพยายามของทุกฝ่ายในสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ป่าเขาใหญ่จึงได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2505

เขาใหญ่เป็นจุดเชื่อมต่อความอุดมของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้นกำเนิดของสายน้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบาง ปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำประจันตะคาม ฯลฯ อีกทั้งยังเป็นผืนป่าที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุดผืนหนึ่งของไทยในปัจจุบัน

จุดชมวิวพะเนินทุ่ง อุทยานฯแก่งกระจานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด

*กว้างใหญ่ที่สุด

และถ้าเอ่ยถึงอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” จ.เพชรบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่มากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร เป็นผืนไพรบริสุทธิ์บนเทือกเขาตะนาวศรีที่อุดมด้วยป่าดิบรกชัฏ

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งสุดพิเศษจึงเป็นเสมือนศูนย์รวมสรรพชีวิตจาก 4 ภาคของไทย คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ จึงเอื้ออำนวยให้มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพอยู่มากถึง 410 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 53 ชนิด และผีเสื้อป่าอีกกว่า 300 ชนิด ในส่วนของนกหายาก ป่าแก่งกระจานมีนกเงือกอยู่ถึง 6 ชนิด จาก 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย

*สูงที่สุด

จากเทือกเขาหิมาลัยอันแสนหนาวเย็นในอินเดียและเนปาลทอดตัวต่อเนื่องมาสู่ตอนเหนือของไทย และสิ้นสุดปลายเทือก ณ ขุนดอยที่สูงที่สุดของไทยนาม “ดอยอินทนนท์” จ.เชียงใหม่ ที่ระดับความสูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้ที่นี่กลายเป็นดินแดนอันเหน็บหนาว ทั้งยังครอบความเป็นหนึ่งเรื่องที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติไทยไว้ด้วย

สภาพโดยรวมของป่ามีความร่มครึ้ม มีพืชพวกมอส ฝอยลม ไลเคน เฟิน และกล้วยไม้เกาะเกี่ยวเลื้อยพันตามลำดับของแมกไม้ใหญ่อย่างหนาแน่น ขนพื้นดินมีข้าวตอกฤาษีปูเป็นพรมเขียวสด ไม่ต่างกับป่าหิมพานต์อันลี้ลับ

ส่วนหนึ่งของยอดดอยอินทนนท์มีสภาพเป็นแอ่งน้ำซับที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “อ่างกาหลวง” ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ โดยจัดทำเป็นสะพานไม้ทอดยาวไปในป่าดิบเขาเพื่อศึกษานิเวศธรรมชาติ พร้อมกับชมพรรณไม้หลากหลายจากเขตหิมาลัย เช่น กุหลาบพันปี กุหลาบขาว กล้วยไม้รองเท้านารี อินทนนท์ และพืชกาฝากอย่างกระโถนพระฤาษี เป็นต้น

รวมถึงสัตว์จากเขตหิมาลัย เช่น กวางผา หนูผีอ่างกา หนูน้ำดอยอ่างกา หนูผีหางยาวฟันแดง หนูผีป่าหางจู๋ ซาลแมนเดอร์ หรือ กะท่าง ฯลฯ ดอยอินทนนท์นับเป็นสวรรค์ของนักดูนกและน้ำตกต่างๆ อาทิน้ำตกแม่ยะ น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกวชิรธาร และน้ำตกแม่ปาน อันยิ่งใหญ่และงดงาม รวมถึงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ที่อุดมไปด้วยพรรณไม้และขุนดอยตระหง่านเงื้อม

พระธาตุนภเมธนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนอุทยานฯอินทนนท์ที่สูงที่สุดในไทย

*นิยมที่สุด

อุทยานแห่งชาติที่เป็นที่นิยมที่สุดแน่นอนเป็นที่อื่นไม่ได้นอกจาก “ภูกระดึง” จ.เลย ขุนเขามหัศจรรย์แห่งเมืองเลยอาจนับเป็นสุดยอดของภูหินทรายบนเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่มีรอยเท้าของนักเดินทางเหยียบย่ำขึ้นไปมากที่สุด

ส่วนบนสุดของภูกระดึงมีลักษณะเป็นทุ่งราบกว้างใหญ่ ถูกปกคลุมด้วยทุ่งหญ้า ป่าสนสองใบ ป่าสนสามใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขา สลับกับเนินเตี้ยๆ โดยมีภูกุ่มข้าว เป็นยอดเขาสูงสุด ความโดดเด่นด้านหนึ่งของภูกระดึงคือสุดยอดพรรณไม้เขตหนาวที่กระจายพันธุ์ลงมาถึง เช่น กุหลาบขาว กุหลาบแดง และก่วมแดง ที่มีชื่ออื่นว่าเมเปิ้ลแดง หรือไฟเดือนห้า ลักษณะเป็นไม้ต้นสูงใหญ่ ชอบขึ้นอยู่ริมลำธารในป่าดงดิบที่ความสูง 1,300-2,400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ก่วมแดงจะผลัดใบเปลี่ยนเป็นสีแดงฉาน น่าตื่นตาเป็นที่สุด โดยเฉพาะในป่าปิดซึ่งมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกขุนพอง น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกเพ็ญพบใหม่ และน้ำตกธารสวรรค์ เป็นต้น จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นทะเลหมอกห่มคลุมอยู่ทั่วหุบเขา ไม่ไกลกันนัก คือ “ผาหมากดูก” ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงาม และ “ผาหล่มสัก” ชะง่อนหินที่ยื่นล้ำออกไปจากหน้าผาและต้นสนขนาดใหญ่ เป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกที่สวยงามจับตา

ผาหล่มสัก ภูกระดึง อุทยานฯยอดนิยมที่สุด

*อุดมสมบูรณ์มากที่สุด 

อาณาจักรแห่งใบไม้สีทอง บนเทือกเขาสันกาลาคีรี ทางกั้นพรมแดนไทยและมาเลเซียดุจปราการธรรมชาติอันอุมดมสมบูรณ์เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ “บูโด-สุไหงปาดี” จ.นราธิวาส เปรียบเสมือนแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญอย่างยิ่ง ดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์อย่างหนึ่งของผืนไพรแห่งนี้คือการสำรวจพบนกเงือกไม่ต่ำกว่า 6 ชนิด เช่น นกเงือกหัวแรด นกชนหิน นกเงือกหัวงอก นกเงือกหัวดำ ฯลฯ ภาพวิถีชีวิตของพวกมันจะยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นเมื่อถึงเวลาจับคู่ ทำรัง และเลี้ยงลูกอ่อนในโพรงบนแม่ไม้ใหญ่ ผืนป่าแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ป่าบูโดและป่าสุไหงปาดี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ อยู่ในเขตอำเภอบาเจาะ ไม่ห่างจากน้ำตกปาโจ บนเทือกเขาบูโด ที่มีการสำรวจพบพรรณไม้หายากของโลกชนิดหนึ่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย คือ ใบไม้สีทอง หรือ ที่เรียกกันตามภาษาท้องถิ่นว่า ย่านดาโอ๊ะ ใบไม้สีทองจะสะท้อนเรืองสุกปลั่งอยู่ทามกลางเรือนยอดป่าดิบเขียวชอุ่ม พงไพรดิบทึบในแถบนี้ยังได้ให้กำเนิดปาล์มหายากระดับโลกขึ้นอีกชนิดหนึ่ง คือปาล์มบังสูรย์ ที่นี่จึงเป็นเสมือนสวรรค์ที่แท้จริงของนักดูนก นักท่องป่า และผู้ที่รักการศึกษาพรรณไม้

ภาพเขียนสี อุทยานฯผาแต้มที่มีภาพเขียนสีโบราณกลุ่มใหญ่และยาวที่สุดในไทย

*ที่สุดภาพเขียนพันปี

ที่ “อุทยานแห่งชาติผาแต้ม” จ.อุบลราชธานี คือสถานที่ศึกษาถึงภาพเขียนสีอันล้ำค่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีภาพความงามอันเด่นชัดของภูหินทราย ดอกไม้กินแมลง ผืนป่าเต็งรังอุดมสมบูรณ์ ขนานไปกับริมฝั่งโขง กั้นพรมแดนไทย-ลาว ตรงส่วนชะง่อนผาด้านล่างยาวประมาณ 180 เมตร สูงราว 40 เมตร มีการสำรวจพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 3,000 ปี เป็นจำนวนกว่า 300 ภาพ นับเป็นกลุ่มภาพเขียนสีโบราณที่ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศไทย ลักษณะของภาพแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาพมือ ภาพสัตว์ ภาพคน ภาพวัตถุ และภาพทรงเรขาคณิต

และในช่วงปลายฝนบนลานหินทรายของผาแต้มจะผลิบานด้วย ดอกไม้ ทั้งสร้อยสุวรรณา ดุสิตา สรัสจันทร ทิพย์เกสร หญ้าขาวก่ำ หยาดน้ำค้าง ฯลฯ เหล่านี้ต่างมีเผ่าพันธุ์เป็นพืชกินแมลงที่ดำรงชีวิตอยู่บนลานหินทราย ซึ่งขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำได้ โดยสร้างอวัยวะพิเศษคล้ายกระเปาะไว้ดักแมลงเล็กๆ มาย่อยสลายกินเป็นอาหารได้อย่างน่าฉงน

*ที่สุดโลกไดโนเสาร์

หลงยุคมายังโลกไดโนเสาร์กันที่ “อุทยานแห่งชาติภูเวียง” อ.ชุมแพ กิ่งอ.นาคำ จ.ขอนแก่น ลักษณะทางภูมิประเทศ ของ อุทยานแห่งชาติภูเวียง เป็นเทือกเขาสูง โดยมีลักษณะเป็นวงแหวนสองชั้น บริเวณตรงกลาง จะมีลักษณะคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ ซึ่งบริเวณแห่งนี้ได้มีการค้นพบ ซากของสิ่งมีชีวิตนับล้านปี คือมีการค้นพบซากกระดูก และรอยเท้าของไดโนเสาร์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519

นอกจากจะพบฟอสซิลของไดโนเสาร์แล้ว ยังค้นพบซากหอย ซากจระเข้ขนาดเล็ก ที่มีอายุมากว่า 150 ล้านปี มีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ ถ้ำหลืบเงินบนเทือกเขาภูเวียง

ที่สุดของอุทยานแห่งชาติ ยังมีให้นั่งนับกันอีกไม่หวาดไม่ไหว ลองตรึกตรองดูกันหน่อยสิว่า ที่ไหน คือ ที่สุดอุทยานแห่งชาติสำหรับคุณ.
ขอบคุณข้อมูล http://www.manager.co.th/Travel

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here