เหมืองแม่เมาะ แหล่งท่องเที่ยวฤดูหนาว

0

ไฮไลท์สำคัญสำหรับผู้มาเยี่ยมชม กฟผ.แม่เมาะจะอยู่ที่ “พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ” ภายในอาคารประกอบด้วย ห้องจัดแสดงนิทรรศการ, โรงภาพยนตร์แอนิเมชั่นแบบสามมิติ โดยผู้ชมจะได้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของโลกได้ชมฟอสซิลพืชและสัตว์ดึกดำ บรรพ์ที่ขุดค้นพบที่เหมืองแม่เมาะรวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเหมืองและ การผลิตไฟฟ้าที่ให้เราๆ ท่านๆ ได้ใช้กัน

แม่เมาะ

แม่เมาะ

ร.7 สงวนถ่านหินเพื่อราชการ

นายกิตติกิจ เศวตเศรนี เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาเหมืองแม่เมาะ ผู้รับอาสาพาทัวร์พิพิธภัณฑ์ฯเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเหมืองแม่เมาะว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6ช่วงปี พ.ศ. 2464-2466 ได้มีการสำรวจพบว่ามีถ่านหินลิกไนต์ที่บริเวณแม่เมาะ จ.ลำปาง และที่คลองขนาน จ.กระบี่ ต่อมาเดือน ก.พ. 2470พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้เพื่อให้ ทางราชการเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ และห้ามมิให้ประทานบัตรการทำเหมืองแก่เอกชนอื่นใดอีก

แม่เมาะ

ต่อมาในปี 2497 รัฐบาลจึงทำการสำรวจถ่านหินลิกไนต์อย่างจริงจัง และพบว่ามีปริมาณที่สูงมาก จึงได้มีโครงการขุดถ่านลิกไนต์ขึ้นมาเพื่อจำหน่าย และต่อมาในปี 2515 ครม.ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ

แม่เมาะ

ผลิต ‘ไฟฟ้า’ 2,400 เมกะวัตต์

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะ มีโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 13 เครื่องโดยโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1-3 ได้หมดอายุการใช้งานไปแล้ว เหลือเพียงเครื่องที่ 4-13 เดินเครื่องอยู่ มีกำลังผลิดไฟฟ้ารวม 2,400 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 8 % ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ โดยใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงประมาณ 17 ล้านตันต่อปี

“โรงไฟฟ้าหนึ่งโรงอายุประมาณ 35 ปี ร้อยละ 50 ของกำลังการผลิต ใช้จาก จ.นครสวรรค์ จนถึง เชียงรายภาคเหนือ 17 จังหวัดใช้ไฟฟ้าจากที่นี่ทั้งหมด อีกร้อยละ 20 ไปภาคอีสาน และ ร้อยละ 30 ไปภาคกลาง สถานีสุดท้ายอยู่ที่ หนองจอก ” นายกิตติกิจ กล่าว

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ด้วยการแปรสภาพพลังงานสะสมของถ่านลิกไนต์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง กระบวนการแปรสภาพพลังงานดังกล่าว มีขั้นตอนคือ เปลี่ยนพลังงานสะสมในถ่านลิกไนต์ให้เป็นพลังงานความร้อน โดยการเผาไหม้หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการสันดาป (Combusion or Oxidation) และ พลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้ถูกส่งผ่านไปให้กับน้ำ ทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำ

“อุณหภูมิและความดันสูง จะเปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำให้เป็นพลังงานกล โดยใช้ไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ เปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยให้กังหันไอน้ำไปหมุน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า” เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ กล่าว

แม่เมาะ

12สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ

หากย้อนไปในเดือน ต.ค. 2535 ได้เกิดเหตุชาวบ้านบางส่วนใน อ.แม่เมาะ ป่วยด้วยโรงทางเดินหายใจจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นจากการทำเหมืองลิกไนต์ จนกลายเป็นคดีความยาวนานนับสิบปี ขณะที่ กฟผ. ได้ ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และปรับปรุงระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่กระจายอยู่ใน อ.แม่เมาะ 12 สถานี

นายกิตติกิจกล่าวว่า กฟผ.มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบโรงไฟฟ้า 12 สถานี มีการวัดสภาพอากาศ 24 ชั่วโมง ปัจจุบันพบค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

“สถานีตรวจวัดอากาศเหล่านี้ ชาวบ้านเป็นผู้เลือก ว่าจะให้ติดตั้งที่ไหน และชาวบ้านเป็นคณะกรรมการการตรวจวัดขณะที่ กฟผ. เป็นผู้ดูแลเครื่องให้ เพราะฉะนั้นค่าสภาพอากาศ ชาวบ้านจะเป็นผู้วัด และไปขึ้นป้ายโชว์ในพื้นที่ของตัวเอง ในกรณีที่ค่าก๊าซซัลเซอร์ไดออกไซด์ เกินกว่ามาตรฐาน ก็จะตัดโรงไฟฟ้านั้นๆ ออกจากระบบ ไม่เดินเครื่อง” นายกิตติกิจ กล่าว

แม่เมาะ

‘ทุ่งดอกบัวตอง’บานสะพรั่ง

นายกิตติกิจกล่าวว่า นอกจาก พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาฯ ยังมี “ทุ่งบัวตอง” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทิ้งดินด้านตะวันออกของบ่อเหมือง พื้นที่กว่า 500 ไร่ เกิดจากการนำดินในบ่อเหมืองมาทำเป็นภูเขาเทียม สูงจากระดับพื้นดินปกติ 200 เมตร “ดอกบัวตอง”จะบานสะพรั่ง ช่วง พ.ย.-ธ.ค. ของทุกปีและเป็นจุดชมวิว ทิวทัศน์ที่มีความสูงอยู่ในระดับเทียบเท่าปล่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะอีกด้วย

แม่เมาะ

นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จัดแสดงเครื่องจักรกลที่เคยใช้ในการทำเหมืองแม่เมาะในอดีต โดยจัดวางไว้ในลักษณะที่เหมือนกับการทำงานจริง ใกล้กันมี สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาสวนพฤกษชาติ และสวนน้ำพระทัย ประกอบด้วย พรรณไม้ที่สวยงาม ฝายชะลอน้ำ ศาลาชมวิว และลานสไลเดอร์หญ้าขนาดใหญ่ฯ

“ปัจจุบันมีนกประมาณ 300 สายพันธุ์ เข้ามาในพื้นที่ เหมาะสำหรับนักดูนก และเริ่มมีพวกไก่ฟ้าพระยาลอ และไก่ป่า กระต่ายป่า เข้ามาในพื้นที่บางส่วนแล้ว” นายกิตติกิจ กล่าว

ในช่วงหน้าหนาวนี้ กฟผ.แม่เมาะ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งศึกษาความรู้เกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์ที่น่าสนใจ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี

ขอขอบคุณข้อมูล  http://www.naewna.com/scoop/33222

ร่วมแสดงความคิดเห็น