ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > เที่ยวไปชมไป

คำนำ ๑.ราชอาณาจักรสยาม ๒.ขนบธรรมเนียมประเพณี ๓.จารีตประเพณีตามชั้นบุคคล


ตอนที่สอง ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวสยาม

บทที่หนึ่ง เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยาม
            ๑.  ชาวสยามนุ่งห่มผ้าน้อยชิ้น เพราะร้อนและเพราะความเป็นอยู่ง่าย ๆ  ชาวสยามไม่ค่อยหุ้มห่อร่างกายมิดชิดนัก
            ๒.  ผ้านุ่ง เครื่องนุ่งห่มของชาวสยาม  ชาวสยามไม่ใส่รองเท้า ไม่สวมหมวก พันเอวและขาอ่อน ถึงใต้หัวเข่าด้วยผ้ามีดอกดวง ยาวประมาณ ๒ โอน (๑.๑๘ เมตร) ครึ่ง บางครั้งก็ใช้ชิ้นผ้าไหมเกลี้ยง ๆ หรือทอที่ริมเป็นลายทองลายเงิน

            ๓. ใช้เสื้อคลุมผ้ามัสลินเป็นเสื้อชั้นนอก  พวกขุนนางนอกจากนุ่งผ้าแล้วยังสวมเสื้อครุยมัสลินคลุม (ถึงเข่า) เขาจะเปลื้องมันออกแล้วม้วนพันไว้กับบั้นเอว เมื่อเข้าไปหาขุนนางผู้ใหญ่ที่มียศศักดิ์สูงกว่าตน นอกนั้นบรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามคงนุ่งห่มเสื้อผ้าเต็มยศตามธรรมเนียมขุนนางสยาม มีงานพระราชพิธีต้องสวมหมวกลอมพอกสูงมียอดแหลม
            ๔. ผ้าคลุมกันหนาว  ในฤดูหนาวชาวสยามใช้ผ้าตามความกว้างหรือผ้าลินินมีดอกดวงคลุมไหล่ โดยพันชายผ้าไว้กับลำแขน
            ๕. พระเจ้ากรุงสยามฉลองพระองค์อย่างไร  ทรงใช้ฉลองพระองค์ด้วยผ้าเยียรขับอย่างงาม แขนฉลองพระองค์แดงมากปรกมาถึงข้อพระหัตถ์ ทำนองเดียวกับเสื้อที่เราใช้ได้เสื้อคลุม ทรงฉลองพระองค์นั้นไว้ภายใต้ฉลองพระองค์ครุย มีการปักอย่างวิจิตรต่างแบบลวดลายกันกับในยุโรป ชาวสยามคนใดจะใช้เสื้อเปิดนี้ไม่ได้ นอกจากพระองค์จะพระราชทานให้ ซึ่งจะพระราชทานให้เฉพาะขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้น
            ๖. เสื้อยศทหาร พระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานเสื้อชั้นนอกสีแดงสด  สำหรับออกงานสงครามหรือตามเสด็จ ฯ ล่าสัตว์ เสื้อชนิดนี้ยาวถึงหัวเข่า มีดุมขัดด้านหน้า ๘ - ๑๐ เม็ด แขนเสื้อกว้าง ไม่มีปักลวดลาย และสั้นมากจนปรกไปถึงข้อศอก
            ๗. สีแดงสำหรับออกศึกและประพาสป่า  เป็นธรรมเนียมทั่วไปในกรุงสยาม ที่พระเจ้าอยู่หัวและผู้ที่อยู่ในขบวนโดยเสด็จออกงานดังกล่าว จะต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดสีแดง ตัดเย็บด้วยผ้ามัสลินย้อมแดง
            ๘. ลอมพอกยอดสูงและปลายแหลม  เป็นศิราภรณ์สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี พระเจ้าอยู่หัวและขุนนางแต่งเหมือนกัน ต่างแต่ว่าพระลอมพอกประดับขอบ หรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์ ส่วนลอมพอกขุนนางประดับเสียนทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ บางคนไม่มีเสวียนเลย เมื่อใส่ลอมพอก การแสดงความเคารพไม่ได้ถอดออก
            ๙. รองเท้าแตะ พวกแขกมัวร์เป็นผู้นำรองเท้าแตะ  อันเป็นรองเท้าปลายแหลมมาใช้ ไม่มีปีกหุ้มเท้า ไม่มีส้น เขาถอดวางไว้ที่ประตู เมื่อเจะเข้าไปในเรือน ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะประทับอยู่ ณ ที่ใดหรือบุคคลที่เขาจะต้องให้ความเคารพอยู่ ณ ที่ใด ชาวสยามจะไม่สวมรองเท้าเข้าไป ณ ที่นั้นเป็นอันขาด
            ๑๐. ความสะอาดของพระราชวัง  ไม่มีที่ใดจะสะอาดเท่าพระบรมมหาราชวัง
            ๑๑. หมวกสำหรับสรวมไปเที่ยว  พวกขุนนางนิยมมีกัน พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้สร้างพระมาลาเป็นสีต่าง ๆ รูปทรงคล้าย ๆ กับพระลอมพอก แต่ราษฎรสามัญจะใช้ผ้าโพกศีรษะเฉพาะเมื่อลงเรืออยู่ในแม่น้ำเท่านั้น
            ๑๒. เครื่องนุ่งห่มของสตรี  พวกผู้หญิงนุ่งห่มตามความยาวของผืน วงรอบตัวเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงปล่อยชายทางด้านกว้าง เลียนแบบกระโปรงอย่างแคบ ๆ ให้ชายตกลงมาครึ่งแข้ง ส่วนผู้ชายชักชายผ้าข้างหนึ่งซึ่งเขาปล่อยให้ยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ลอดหว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ด้านหลัง โดยคาดเข็มขัดทับ คล้ายสับเพลาโบราณของเรา ส่วนชายอีกข้างหนึ่งห้อยอยู่หน้าขา (ชายพก) ใช้ชายพกห่อล่วมหมาก บางทีก็นุ่งผ้าสองผืนซ้อนทับกัน เพื่อให้ผืนบนดูเรียบร้อย
            ๑๓. เกือบจะเปลือยหมด  นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยตัวล่อนจ้อน มิได้สวมเสื้อชั้นในมัสลิม เพียงแต่คนมั่งมีจะใช้สไบห่ม ปัดชายสไบเฉียงไปคลุมต้นแขน แต่ลักษณะที่สุภาพคือใช้ตอนกลางของผืนคาดขนอง แล้วสอดรักแร้ปกถันเข้าไว้ แล้วตลบชายสไบทั้งสองด้านสพักไพล่ไปทั้งชายอยู่าทางเบื้องหลัง (ห่มตาเบงมาน)

            ๑๔. ความละอายในการเปลือย  ชายหญิงสยามมีความตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งในโลก ที่จะเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งธรรมเนียมกำหนดให้ปิดบังไว้ ออกให้ใครเห็น เราต้องจ่ายผ้าขาวม้าให้ทหารฝรั่งเศสนุ่ง เมื่อลงอาบน้ำตามท่า เพื่อระงับข้อครหาของชาวเมือง ที่เห็นทหารฝรั่งเศสเปลือยกายลงอาบน้ำในแม่น้ำ
            ๑๕. ความละอายในการลงโทษ  เด็ก ๆ  จะไม่นุ่งผ้าจนอายุได้ ๔ - ๕ ขวบ และเมื่อเด็กนุ่งผ้าแล้วผู้ใหญ่จะไม่เลิกผ้าขึ้นเพื่อลงโทษเลย และคนในภาคบูรพาทิศถือกันว่า เป็นการน่าบัดสีอย่างยิ่ง ถ้าใครถูกโบยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอันเปลือยเปล่า
            ๑๖. เหตุใดจึงใช้ไม้เรียว  เพราะแส้หรือกิ่งไม้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เพียงพอที่จะแทรกเนื้อผ้าเข้าไปใด้
            ๑๗. ความละอายเวลานอนและอาบน้ำ  ชาวสยามไม่เปลือยกายเมื่อเข้านอน ทำนองเดียวกันกับที่เขาผลัดผ้าเมื่อลงอาบน้ำในแม่น้ำ ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะว่ายน้ำกันเก่งเท่าที่นี่ ทั้งหญิงและชาย
            ๑๘. องค์พยานความละอายอย่างอื่น ๆ  ความละอาย (ต่อความสกปรก) ของชาวสยามก่อให้เกิดธรรมเนียมขัดสีฉวีวรรณกันอย่างถึงขนาด เขาเห็นว่าการเปลือยกายเป็นสิ่งที่น่าบัดสี เพลงขับที่มีเนื้องร้องเป็นคำลามกอนาจาร เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายสยามเหมือนกับกฎหมายในประเทศจีน
            ๑๙. ผ้านุ่งชนิดใดที่อนุญาตให้ใช้ได้  ผ้านุ่งที่มีความงดงามบางชนิดเช่น ผ้าม่วงไหมยกดอกหรือผ้าม่วงไหมอย่างไม่ยกดอก และเช่นผ้าลายเนื้อดี อนุญาตให้นุ่งได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ส่วนพวกผู้หญิงชั้นสามัญนิยมนุ่งผ้าถุงสีดำ และสไบนั้นมักเป็นผ้ามัสลินสีขาวอย่างธรรมดา
            ๒๐. แหวน กำไล ข้อมือ ตุ้มหู  ชาวสยามสวมแหวนที่นิ้วท้าย ๆ ของทั้งสองมือ พวกผู้ชายไม่รู้จักใช้สร้อยคอ พวกผู้หญิงและเด็กทั้งชายหญิงรู้จักการใช้ตุ้มหู ซึ่งมีรูปร่างเหมือนลูกบัว ทำด้วยทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทอง เด็กหนุ่มสาวลูกผู้ดีสวมกำไลข้อมือ แต่จะสวมถึงอายุ ๖ - ๗ ขวบเท่านั้น และยังสวมกำไลที่แขน และขาอีกด้วย เป็นกำไลทำด้วยทองคำหรือกาไหล่ทอง
            ๒๑. การเปลือยกายของเขาไม่เป็นที่แปลกตา  เพราะมีผิวพรรณไม่ขาวเหมือนชาวยุโรป
            ๒๒. รูปร่างของชาวสยาม  มีรูปร่างย่อมได้สัดส่วนดี ปทุมถันของหญิงมิได้เต่งตั้งอยู่ได้เมื่อพ้นวัยสาวรุ่นไปแล้ว และยานย้อยลงมาถึงท้องน้อยในเวลาไม่นาน แต่รูปทรงร่างกายยังกะทัดรัดอยู่
            ๒๓. หน้าตาชาวสยาม  ค่อนข้างเป็นรูปขนมเปียกปูนมากกว่ารูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายขึ้นไปทางเหนือโหนกแก้ม ไปถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง หางตาค่อนข้างสูง ตาเล็ก ไม่สู้แจ่มใสนัก ตาขาว ออกสีเหลือง ๆ แก้มตอบ ปากกว้าง ริมฝีปากหนาชัด ฟันดำ ผิวหยาบ สีน้ำตาลปนแดง
            ๒๔. สีน้ำเงินที่สักไว้ตามร่างกาย  ผู้หญิงสยามไม่ใช้ชาดทาปาก แก้มหรือแต้มไฝ ขุนนางสักที่ขาเป็นสีน้ำเงินหม่นเป็นเครื่องกำหนดความยิ่งศักดิ์ จะมีสีน้ำเงินมาก หรือน้อยสุดแต่บรรดาศักดิ์สูงต่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงสักสีน้ำเงิน ตั้งแต่ฝ่าพระบาทไปถึงพระนภี แต่บางคนก็บอกว่ากาสักทำไปเพราะเชื่อโชคลางของขลัง
            ๒๕. จมูกและหูของชาวสยาม  ชาวสยามมีจมูกสั้นและปลายมน ใบหูใหญ่กว่าชาวยุโรป คนมีใบหูใหญ่มากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันมากเท่านั้น เป็นความนิยมของชาวตะวันออก
            ๒๖. ผมของชาวสยาม   มีสีดำ เส้นหยาบและเหยียด ทั้งชายหญิงไว้ผมสั้นมาก ยาวมาเสมอใบหูเท่านั้น  ต่ำกว่านั้นจะตัดเกือบเกรียนติดหนังศีรษะ พวกผู้หญิงหัวผมตั้งไว้บนหน้าผากโดยมิได้รวบเกล้ากระหมวด บางคนส่วนมากเป็นชาวรามัญ ปล่อยให้ผมยาวไปข้างหลังพอประมาณ เพื่อขมวดเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย ชายหนุ่มและหญิงสาวที่อยู่ในวัยมีเรือนได้แล้วก็ไว้ผม  แปลกไปอีกทำนองหนึ่งคือ ใช้กรรไกรหนีบตัดผมกลางกระหม่อมเสียสั้นเกรียน รอบเรือนผมเขาถอนออกมาเป็นกระจุกเล็ก ๆ กระจุกหนึ่ง ทางด้านล่างปล่อยให้ออกยาวไปเกือบประบ่า
            ๒๗.รสนิยมของชาวสยามที่มีต่อหญิงผิวขาว  ภาพวาดสตีรีงามบางคนแห่งราชสำนัก (ฝรั่งเศส) ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชาวสยามมาก พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงมีหญิงสาวชาวมิลเกรเลียน หรือชอร์เชียน โดยรับสั่งให้ซื้อมาจากประเทศเปอร์เชีย (มาเป็นบาทบริจาริกา) และชาวสยามที่มาฝรั่งเศสสารภาพว่า ผู้หญิงฝรั่งเศสนั้นสวยมาก ไม่มีหญิงชาวสยามคนใดทัดเทียมได้
            ๒๘. ชาวสยามเป็นคนสะอาดสะอ้านมาก  ชาวสยามนุ่งห่มน้อย  และอบรำร่างกายด้วยสุคนธรส ริมฝีปากก็สีขี้ผึ้งหอม อาบน้ำวันละ ๓ - ๔ ครั้ง  ถือเป็นความสุภาพเรียบร้อยว่า จะไปเยี่ยมผู้ใดในรายที่สำคัญ ต้องอาบน้ำเสียก่อน และจะประแป้งให้ขาวพร้อมที่ยอดอก แสดงว่าได้อาบน้ำมาแล้ว
            ๒๙. วิธีอาบน้ำสองอย่าง  วิธีหนึ่งลงไปแช่น้ำ อีกวิธีหนึ่งใช้ขันตักน้ำรดร่างกาย
            ๓๐. การรักษาความสะอาดฟันและผม  ชาวสยามเอาใจใส่รักษาฟันมาก  แม้จะย้อมดำแล้วก็ตาม เขาสระผมด้วยน้ำ และใส่น้ำมันจันทน์ ทำนองเดียวกับชาวเสปน แล้วไม่ผัดแป้งเลย  ชาวสยามหวีผม หวีมาจากประเทศจีน ชาวสยามถอนเคราซึ่งมีอยู่หร็อมแหร็ม  แต่ไม่ทำเล็บเลย เพียงแต่รักษาให้สะอาด
            ๓๑. ชาวสยามชอบไว้เล็บยาว  เราได้เห็นนางละครชาวสยามที่จะให้งามเกินงาม สวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองยาวมาก
บทที่สอง  บ้านเรือนของชาวสยาม และฝีมือการก่อสร้าง
            ๑. ชาวสยามมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ  ชาวสยามแต่งตัวอย่างเรียบ ๆ ง่าย ๆ  บ้านเรือนเครื่องเรือนและอาหารการกินก็เรียบ ๆ ง่าย ๆ  ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  กล่าวคือ เหมือนเศรษฐีที่อยู่ในห้วงแห่งความอนาถา เสมอเหมือนกันไปหมดทุกคน เพราะพวกเขาเป็นคนสันโดษมักน้อย ที่อยู่อาศัยของชาวสยามเป็นเรือนหลังย่อม ๆ  มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟาก และเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก และยังจักตอกขัดแตะเป็นฝา และใช้เครื่องบนหลังคา เสาตอม่อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วม ก็ใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่กว่าขา และสูงจากพื้นดินประมาณ ๑๓ ฟุต  เพราะบางครั้งน้ำท่วมสูงถึงเท่านั้น ตอม่อ แถวหนึ่งมีไม่มากกว่า ๔ - ๖ ต้น แล้วเอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอด บันได ก็เป็นกระได ไม้ไผ่ซึ่งทอดอยู่ข้างนอกตัวเรือน เหมือนกระไดโรงสีลม คอกสัตว์สยามก็อยู่กลางแจ้งและยกพื้นเหมือนกัน มีตะพานทำด้วยไม้ไผ่ฟากสำหรับสัตว์ปีนขึ้น
            ๒. เรือนสร้างแล้วเสร็จได้รวดเร็ว  การที่เรือนแต่ละหลังออกไปตั้งอยู่โดดหลังเดียวห่าง ๆ กัน อาจต้องการให้เป็นที่รโหฐาน ชาวสยามตั้งเตาหุงต้มกันกลางลานบ้าน ขณะที่เขาอยู่ในพระนคร มีเรือนถูกไฟไหม้ถึง ๓๐๐ หลังคาเรือน แต่กลับปลูกใหม่เสร็จภาายในสองวัน
            ๓. ไม่มีเรือนพักรับแขกเมือง   ที่เขาจัดให้พวกเราพักที่ชายน้ำ ชาวสยามได้จัดสร้างขึ้นโดยเฉพาะ ด้วยไม่มีเรือนหลังใดพอให้เข้าพักได้  เหมือนประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเซีย ระหว่างทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปถึงเมืองละโว้ เห็นมีศาลาที่พักคนเดินทางเป็นโรงโถงขนาดใหญ่อย่างธรรมดา มีกำแพงล้อมรอบสูงพอเอื้อมถึง มีหลังคาคลุม หลังคาตั้งอยู่บนเสาไม้แก่น ซึ่งผังเรียงรายเป็นระยะลงในกำแพงนั้น บางทีพระเจ้ากรุงสยามก็ประทับเสวยพระกระยาหารที่นั่นในระหว่างเสด็จ ฯ แต่ส่วนเอกชนสามัญก็ใช้เรือที่ไปเป็นที่พักแรมไปในตัว
            ๔. เหตุใดการต้อนรับอาคันตุกะให้พักอาศัยอยู่ด้วย จึงไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวอาเซีย  พระภิกษุไม่มีภรรยา ท่านจึงแสดงความกรุณาให้ที่พักอาศัย แก่อาคันตุกะดีกว่าพวกพลเมือง ที่สยาม (อยุธยา)  มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเริ่มตั้งโรงเตี๊ยมขึ้น บางทีก็มีชาวยุโรปไม่กี่คนไปพักบ้าง
            ๕. เรือนที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับรับรองคณะฑุตานุฑูตฝรั่งเศส  เจ้าพนักงานจึงสร้างเรือนแบบพื้นประเทศให้ สร้างบนเสาปูฟาก และลาดด้วยเสื่อกก รวมทั้งพื้นเฉลียงอีกด้วย ห้องโถงและห้องในนั้น แขวนผ้ามีดอกดวง เพดานผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องนั้นลาดเสื่อกกสานลายละเอียด และเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้พื้นเฉลียง และภายในห้องนอนของเอกอัครราชฑูตพิเศษนั้น  ยังลาดพรมเจียมทับเสื่อกกอีกชั้นหนึ่ง  มีความสะอาดอยู่ทั่วไป แต่มิได้โอ่โถงมีภูมิฐานอะไรที่บางกอก สยาม และละโว้ ซึ่งชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ สร้างบ้านเรือนเป็นตึกก่ออิฐถือปูน  เจ้าพนักงานได้จัดให้เข้าพักในตึกเช่นเดียวกัน  มิใช่เรือนสร้างขึ้นเฉพาะสำหรับพวกเรา
            ๖. ตึกสำหรับเอกอัคราชฑูตฝรั่งเศสและปอร์ตุเกศพักยังสร้างไม่เสร็จ  เรายังได้เห็นตึกสองหลัง ซึ่งเจ้ากรุงสยามโปรดให้สร้างขึ้นหลังหนึ่ง สำหรับเอกอัคราชฑูตฝรั่งเศสอีกหลังหนึ่ง  อีกหลังหนึ่งสำหรับเอกอัคราชฑูตปอร์ตุเกศ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
            ๗. เรือนขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงสยาม  ขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชสำนักอยู่เรือนไม้ทั้งหลัง รูปร่างดังตู้ใบใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเจ้าบ้าน ภรรยาหลวงกับบุตรธิดาของตน ส่วนภรรยาน้อยคนอื่น ๆ กับบุตรธิดาของตน ทาสแต่ละคนกับครอบครัว มีเรือนหลังเล็ก ๆ  แยกกันอยู่ต่างหากจากกัน  แต่อยู่ในวงล้อมรั้วไม้ไผ่ร่วมกับเจ้าของบ้าน

            ๘. เรือนชาวสยามมีเพียงชั้นเดียว   วิธีสร้างเรือน น่าอยู่กว่าตามแบบของเรามาก ไม่ต้องกังวลในเรื่องพื้นที่ สร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก  ไปตัดไม้จากป่าตามชอบใจ หรือไม่ก็หาซื้อมาด้วยราคาถูก ๆ จากผู้ที่ไปตัดชักมา กล่าวกันว่าเรือนของชาวสยามที่มีเพียงชั้นเดียว ก็เพื่อมิให้ผู้ใดอยู่สูงกว่าพระเจ้ากรุงสยาม ในขณะที่พระองค์ทรงช้างเสด็จ ฯ ไปในท้องถนน  ไม่ว่าพระองค์เสด็จ ฯ ทางชลมารคหรือสถลมารค  พวกราษฎรจะต้องปิดหน้าต่างเรือนแล้วลงมาสู่ถนน หรือลงมาสู่เรือของตนเพื่อถวายบังคม  ข้อที่ราษฎรระวังกันนักคือ เรือนของตนจะต้องไม่ใหญ่โตงดงามเทียบเท่าพระราชมณเฑียร  อนึ่งปราสาทราชมณเฑียรก็มีเพียงชั้นเดียวทั้งสิ้น
            ๙. ตึกสำหรับชาวต่างประเทศ   ชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึก ตามแบบนิยมและศิลปของชาติตน

            ๑๐. หอที่เรียกว่าดีวัง  ผนังสามด้าน ด้านที่สี่เปิดโล่งไว้ ด้านนี้มีพะไลยื่นออกไปบัวสูงเท่าตัวหลังคา ภายในหอมักจะประดับตั้งแต่ข้างบน จนถึงข้างล่างด้วยกุฎิเล็ก ๆ ที่แขวนอยู่หรือเจาะเป็นช่องเข้าไปในผนัง เพื่อตั้งถ้วย โถ ขาม และแจกะนกระเบื้อง
            ๑๑. พระที่นั่งและพระวิหารก่ออิฐแต่เตี้ย ๆ  พระราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังที่สยาม (อยุธยา) กับที่ละโว้กับโบสถ์ หรือวิหารหลายแห่งก็สร้างด้วยอิฐเหมือนกัน  โบสถ์วิหารมีลักษณะคล้ายกับหอพระของเรา คือ ไม่มีโค้งหลังคา ไม่มีเพดาน มีแต่เสาไม้แก่น ค้ำเครื่องบนมุงกระเบื้อง ล่องชาด และวาดลายทองเล็กน้อย
            ๑๒. ตึกในสยามยังเป็นของริเริ่มใหม่   อาคารก่ออิฐถือปูนยังเป็นของริเริ่มใหม่ของสยามอยู่มาก ชาวยุโรปเป็นผู้นำเอาแบบอย่างการสร้างตึกเข้ามาใช้
            ๑๓. ชาวสยามยังไม่รู้จักองค์การก่อสร้าง ๕ ประการ  ชาวสยามไม่รู้จักการประดับภายนอกราชมณเฑียร หรือโบสถ์วิหารเลย นอกจากเครื่องหลังคาซึ่งมุงด้วยแผ่นดีบุกอย่างธรรมดา เรียกว่า กะลิน  หรือกระเบื้อง  เคลือบสีเหลือง เหมือนอย่างหลังคาพระราชมณเฑียนพระเจ้ากรุงจีน  ส่วนที่เกี่ยวกับองค์ ๕ ของสถาปัตยกรรมอันประกอบด้วยเสา ลวดลายประดับคานบนยอดเสา และการประดิดประดอยอื่น ๆ นั้น ชาวสยามไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย
            ๑๔. บันไดและประตู  เป็นบันไดอย่างธรรมดา มี ๑๐ - ๑๒ ขั้น  ความกว้างไม่ถึง ๒ ฟุต  ก่อด้วยอิฐถือปูนติดผนังเบื้องขวา เบื้องซ้ายก็ไม่มีรางกั้น  แต่ขุนนางสยามไม่จำเป็นต้องใช้ราวบันไดแต่อย่างใด  เพราะเขาคลานขึ้นไปด้วยมือและเข่า และคลานอย่างเงียบกริบ  ทวารท้องพระโรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ต่ำและแคบ
            ๑๕. การวางศักดิ์ในพระราชมณเฑียรนั้นคืออย่างไร  แม้พื้นเรือนจะมีอยู่เพียงชั้นเดียว แต่พื้นเรือนมิได้อยู่ในระดับเดียวกันหมดทั้งหลัง มีการลดหลั่นกันไปโดยลำดับ  จึงมีบันไดสำหรับก้าวจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง ด้วยพื้นห้องและชานของแต่ละห้องนั้น ยกอยู่ในระดับเดียวกันทั้งสิ้น  เป็นเหตุให้หลังคาของแต่ละห้องสูงต่ำไม่เท่ากัน  หลังคาเป็นรูปหลังลาทั้งสิ้น  แต่ตอนหนึ่งนั้นต่ำกว่าอีกตอนหนึ่ง ลดหลั้นตามระดับพื้นห้องที่ต่ำกว่ากัน  หลังคาค่อนที่ต่ำกว่านั้นดูคล้ายแลบออกมา จากหลังคาตอนชั้นสูง และหลังคาชั้นสูงนั้นครอบทับชายหลังคาชั้นต่ำกว่าไว้ เหมือนอานม้า ซึ่งหัวอานที่งอนขึ้นมาซ้อนท้ายอานอีกอันหนึ่งไว้
            ๑๖. ที่เมืองจีนก็เช่นกัน

            ๑๗. โบสถ์วิหารก็เช่นเดียวกัน  ส่วนโบสถ์นั้น ได้สังเกตเท่าที่เห็นแต่เฉพาะพะไล ที่ยื่นออกมาเป็นมุขด้านหน้า และอีกอันหนึ่งทางด้านหลังเท่านั้น  ตอนใต้เป็นที่ประดิษบานพระพุทธรูป ส่วนหลังคามุขหน้า และมุขหลังนั้น ดูเหมือนจะมีไว้ให้ประชาชนเข้าไปนั่งเท่านั้น
            ๑๘. เจดีย์  เครื่องประดับสำคัญของอุโบสถ ต้องมีเป็นธรรมดาทุกวัดคือ เจดีย์ปูนขาว หรือก่อด้วยอิฐมากมายหลายองค์ สร้างด้วยฝีมือประดิดประดอยอย่างหยาบ ๆ เจดีย์ทั้งหลายนั้นทรงกลมและยิ่งสูงขึ้นไปก็ยิ่งลดเรียวลง  ตอนปลายคล้ายโดม เมื่อเป็นเจดีย์ทรงต่ำ ตอนปลายที่ทำเป็นโดมนั้น มีก้านดีบุกเล็ก ๆ ปลายแหลมปักอยู่  และสูงมากพอใช้เมื่อเทียบส่วนกับเจดีย์ทั้งองค์  เจดีย์บางองค์มีลักษณะคอดเข้า แล้วเลื่อมออกขึ้นไปตามส่วนสูงถึง ๔ - ๕ ชั้น  ดูเป็นลูกคลื่น  โดยรอบทรงกลมนี้ประดับลวดลายแวง ตั้งเป็นมุมฉากอยู่ ๓ - ๔ แห่ง  ทั้งที่ตามรอยคอดและส่วนที่สูงขึ้นไป ลายนี้ค่อยเรียวลงตามส่วนเรียวขององค์เจดีย์ ไปสิ้นสุดลงที่ยอด ตอนเริ่มเม็ดทรงมันอันมีลายประดับอีก
            ๑๙. ลักษณะห้องบางห้องในพระราชมณเฑียร  ได้เห็นแต่เพียงหัองชั้นนอก ห้องแรกอันเป็นท้องพระโรงที่สยาม (กรุงศรีอยุธยา) กับที่เมืองละโว้ เท่านั้น กล่าวกันว่าไม่มีใครจะล่วงล้ำเกินกว่านั้นไปได้ แม้พวกมหาดเล็ก ยกเว้นพระสนมนางใน และะพวกขันทีเท่านั้น ได้เห็นห้องประชุมองคมนตรีในพระราชวังที่เมืองละโว้ แต่ก็เป็นห้องนอกแรกเข้าไปถึง ในอาคารหลังนี้ยังมีห้องชั้นใน ๆ เข้าไปอีก หมายความว่า ไม่มีห้องพักคอย (Anti chambre) ที่ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองข้าง ห้องประชุมมีชานเฉลียงแลออกไปเห็นอุทยานล้อมอยู่โดยรอบ บนชานเฉลียงนี้เป็นกลางแจ้ง เจ้าพนักงานได้จัดขึงผ้ากันแดดทางด้านเหนือ  เพื่อให้เป็นที่คณะเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าเป็นส่วนพระองค์ พระเจ้ากรุงสยามเสด็จประทับพระราชอาสน์ ณ สีหบัญชร ช่องหนึ่งในห้องประชุมนั้น ในท่ามพระราชอุทยานและลานสนามนั้น มีทิมโถงหลายห้องเรียกว่า ศาลา ตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงมีหลังคาปก มีแต่เสาลอยรับเป็นระยะ ๆ  ในกำแพงนั้น ศาลาเหล่านี้ทำขึ้นสำหรับขุนนางผู้ใหญ่ ในตำแหน่งสำคัญ ๆ เข้าไปนั่งขัดสมาธิเพื่อปฎิบัติหน้าที่ราชการของตน หรือประชุมหารือกัน มาคอยรับพระบรมราชโองการในตอนสาย ๆ ระยะหนึ่ง และตอนเย็นจนค่ำอีกระยะหนึ่ง และจะลุกกลับออกไปไม่ได้ จนกว่าจะได้อาณัติให้กลับไปได้แล้ว ขุนนางชั้นผู้น้อยนั่งอยู่ที่สนามหญ้า หรือในอุทยาน และเมื่อได้อาณัติสัญญาณว่า พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรมาเห็นตัวแล้ว ก็จะหมอบลงทันที
            ๒๐. สถานที่ในพระบรมมหาราชวังที่เราได้รับพระราชทานเลี้ยง   เป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ และใกล้ขอบสระ ในพระราชวังที่เมืองละโว้ พวกเราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระราชอุทยาน ภายในห้องโถงแห่งหนึ่ง ซึ่งผนังสูงขึ้นไปจนจรดหลังคา และรองรับตัวหลังคาไว้ ผนังโบกปูนสีขาว เรียบเป็นมันวับ มีประตูด้านสะกัดด้านละช่อง มีคูกว้าง ๒ - ๓ ตัวซ์  ลึกประมาณ ๑ ตัวซ์  ล้อมรอบ ภายในคูมีน้ำพุสายเล็ก ๆ เรียงรายประมาณ ๒๐ แห่ง สายน้ำพุพุ่งขึ้นมาเหมือนจากฝักบัวรดน้ำ น้ำพุ่งขึ้นมาเสมอระดับขอบคู
            ๒๑. พระราชอุทยานที่เมืองละโว้  ไม่สู้กว้างขวางเท่าไร  แปลงปลูกต้นไม้ต่าง ๆ มีน้อย ก่อด้วยอิฐตั้งซ้อนกันขึ้นไปเป็นขอบคัน ช่องทางเดินระหว่างแปลงต้นไม้นั้น แปลงต้นไม้นั้นปลูกพันธุ์ไม้ดอกไว้ กับต้นไม้จำพวกปาลม์ และพรรณอื่น ๆ
            ๒๒. พลับพลาไม้ไผ่ในป่า  ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ เรียบ ๆ


 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์