เขตพะโค หรือเขตหงสาวดี

MyanmarBagoเขตพะโค หรือ เขตหงสาวดี เป็นเขตการปกครองหนึ่งของประเทศพม่า ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ทางเหนือของเขตติดต่อกับเขตมาเกวและเขตมัณฑะเลย์ ทางตะวันออกกับรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และอ่าวเมาะตะมะ ทางใต้กับเขตย่างกุ้ง และทางตะวันตกกับเขตอิรวดีและรัฐยะไข่

เขตปกครองหงสาวดี  อากาศจะร้อนที่สุดในเดือนเมษายน เขตนี้เป็นแหล่งปลูกไม้สักที่ใหญ่ที่สุด มีการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ มีโรงเลื่อยและโรงอบไม้

เนื่องจากเมืองหงสาวดี เมืองเก่าแก่ของชาวมอญและเป็นอดีตราชธานีของพระเจ้าบุเรงนอง จึงมีสถานที่น่าสนใจที่ดึงดูดผู้คนให้ไปสัมผัส ได้แก่ พระเจดีย์ชะเวมอว์ดอว์หรือพระธาตุมุเตา พระเจดีย์เก่าแก่ สมัยเดียวกันกับพระเจดีย์ชะเวดากอง เป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองหงสาวดี ก่อนพระเจ้าบุเรงนองออกศึกทุกครั้งต้องมานมัสการ พระเจดีย์องค์นี้ พระราชวังพระเจ้าบุเรงนอง พระพุทธรูปชเวตาเรืองพระพุทธรูปปางไสยาสน์เก่าแก่ พระพุทธรูปไจ้ปุ่น พระพุทธรูปสี่ทิศ เมืองแปรเป็นอีกเมืองที่นักท่องเที่ยวมักจะไปเยือนเสมอๆ

สัญลักษณ์ของเมือง

เป็น รูปหงส์คู่ ตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาถึงเมืองหงสาวดีที่สมัยก่อนยังคงเป็นชายหาดริมทะเล พระพุทธเจ้าทรงเห็น หงส์สองตัวว่ายน้ำเล่นกัน จึงทำนายออกมาว่าภายหลังจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ชาวหงสาวดีจึงถือเอาตำนานเรื่องนี้มาเป็นสัตว์

 

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเมืองหงสาวดีประเทศพม่า
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญได้แก่ พระเจดีย์ชะเวซานดอว์ พระเจดีย์ คู่บ้านคู่เมืองแปร โบราณสถานศรีเกษตร พระเจดีย์เก่าแก่อายุกว่า 2,400 ปี อาทิ พระเจดีย์พญาจี พระเจดีย์พญามา พระเจดีย์บอบอจี พระพุทธรูปชะเวเมียตมัน (พระพุทธรูปแว่นทอง)พระพุทธรูปใส่แว่นองค์เดียวในโลก มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีความมหัศจรรย์ตรงที่เมื่อใดที่ถอดแว่นออก จะมีน้ำตาไหลออกมาไม่หยุด

พระธาตุชเวมอดอว์ (Shwemawdaw pagoda) 

หรือที่เราเรียกกันว่า พระธาตุมุเตา ที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองหงสาวดี พระเจดีย์องค์นี้ถือว่ามีความโดดเด่นในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และยังเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดของชาวพม่า นอกจากนี้มหาเจดีย์ชเวมอดอร์ ยังเคยผ่านการพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ก.ค. พ.ศ. 2473 ได้ทำให้ปลียอดของเจดีย์องค์นี้หักพังลงมา แต่ว่าด้วยความศรัทธาที่ชาวเมืองมีต่อเจดีย์องค์นี้ พวกเขาได้ทำการสร้างเจดีย์ชเวมอดอร์ขึ้นมาใหม่ในปีพ.ศ.2497 ด้วยความสูงถึง 374 ฟุต (ตอนแรกที่สร้างสูง 70 ฟุต) นับเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในพม่า ส่วนปลียอดที่พังลงมาก็ได้ตั้งไหว้ที่มุมหนึ่งขององค์เจดีย์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาควบคู่ไปกับเจดีย์องค์ปัจจุบัน

สำหรับความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเจดีย์ชเวมอดอร์ก็คือ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแบบมอญอย่างเด่นชัด คือมีฉัตรแบบเรียบๆและมีองค์ระฆังของเจดีย์มีลักษณะแคบเรียว ภายนอกหุ้มด้วยทองจังโก้ ภายในเป็นอิฐกลวง แตกต่างจากเจดีย์ชเวดากองที่เป็นเจดีย์แบบพม่า(อย่างชัดเจน) ส่วนบริเวณรอบๆองค์เจดีย์ก็มีพระพุทธรูปหลายองค์ให้กราบไหว้ มีอาคารสถาปัตยกรรมพม่าผสมตะวันตกให้เดิน นอกจากนี้ที่ด้านหนึ่งของเจดีย์ยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆเก็บโบราณวัตถุต่างๆให้ชม

 

พระราชวังบุเรงนอง(ฺBayinnaung palace) 

พระเจ้าบุเรงนอง (หรือที่คนไทยรู้จักในดีจากวรรณกรรมเรื่อง“ผู้ชนะสิบทิศ”) เป็นผู้สร้างเมืองหงสาวดีให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากโดยพระองค์ได้สร้างพระราชวังบุเรงนองขึ้นในปี พ.ศ. 2109 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองและใช้ออกว่าราชการ ปี พ.ศ. 2142 ในสมัยพระเจ้านันทบุเรง พระราชวังบุเรงนองได้ถูกทำลายด้วยฝีมือของพวกยะไข่กับตองอู ทิ้งให้พระราชวังแห่งนี้รกร้างลงเป็นเวลาร่วม 3 ศตวรรษ ซึ่งพระราชวังเดิมนั้นเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์และถูกจับเป็นตัวประกันอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2533 มีการค้นพบเสาและกำแพงเดิมที่ถูกฝังอยู่ในดิน รัฐบาลพม่าจึงได้ทำการขุดค้นและสร้างพระราชวังบุเรงนองขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยถอดแบบจากของเดิม

ซึ่งบางส่วนได้สร้างแล้วเสร็จไป ส่วนอีกบางส่วนก็กำลังรอทุนในการก่อสร้างอยู่ โดยส่วนที่สร้างเสร็จและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมก็มี พระตำหนักที่ประทับบรรทมสีทองเหลืองอร่ามที่ดูโดดเด่นชวนมองในรูปแบบสถาปัตยกรรมพม่า และท้องพระโรงที่ใช้ออกว่าการก็ดูโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรรมพม่าสีทองเหลืองอร่ามทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งในอนาคตที่นี่จะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติเมืองหงสาวดีและพระราชวังบุเรงนองอันสำคัญ ในขณะที่ปัจจุบันเป็นโถงโล่งๆมีราชรถจำลอง โมเดลของพระราชวัง และบานประตูไม้สักขนาดใหญ่ของพระราชวังเดิมวางไว้ให้ชม

 

พระพุทธไสยาสน์ “ชเวตาเลียว”(Shwethalyaung Buddha)

เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์อันดับสองของเมืองหงสาวดี รองจากพระมหาธาตุมุเตา และเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาว 181 ฟุต สูง 50 ฟุต สร้างโดยพระเจ้าเมงกะติปะ พ.ศ.1537 ในสมัยมอญเรืองอำนาจ มีพุทธลักษณะงดงาม โดยจะวางพระบาทเหลื่อมพระบาท ต่างจากพระพุทธไสยาสน์ของไทยที่นิยมวางพระบาทเสมอกัน เล่าขานว่าเป็นพระรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้านหลังพระองค์มีภาพวาดเล่าขานตำนานว่า มีพระราชาองค์หนึ่งไม่ศรัทธาพุทธศาสนา ทรงลุ่มหลงบูชายักษ์ตนหนึ่งขนาดปั้นรูปไว้กราบไหว้ วันหนึ่งขณะที่พระราชาเสด็จประพาสป่าพร้อมพระโอรส และพระโอรสไปพบสาวชาวบ้านกำลังอาบน้ำอยู่ในลำธารก็เกิดความหลงรัก ถึงกับพากลับเข้าวัง แต่สาวเจ้าอันเชิญพระพุทธรูปไปบูชาในวังด้วย ทำให้พระราชากริ้วมาก ถึงขั้นสั่งให้ทหารจับพระโอรสและคนรักมัดรวมกันเพื่อจะประหาร

แต่ชาวบ้านได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีจริงก็ขอให้นางแคล้วคลาด ปรากฏว่าเชือกขาดโดยพลัน ขณะที่รูปปั้นยักษ์แตกกระจาย พระราชาถึงกับทรงหันกลับมานับถือพุทธศาสนา และขอไถ่บาปด้วยการสร้างพะพุทธไสยาสน์เป็นเครื่องเตือนสติ หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาทรงปราบมอญราบคาบ เมืองหงสาวดีก็ถูกทิ้งร้าง พระพุทธไสยาสน์ไม่ได้รับการดูแลจนกลายเป็นกองอิฐจมอยู่ในโคกดิน จนถึงปี พ.ศ.2424 เมื่ออังกฤษสร้างทางรถไฟสายพม่า จึงขุดพบพระนอนองค์นี้ จากนั้นปี พ.ศ.2491 หลังจากพม่าได้รับเอกราช ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างจริงจัง และได้ทาสีและปิดทองลงชาดใหม่ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

 

พระพุทธรูปไจ้ปุ่น (Kyaik Pun Buddha Images) 

เป็นพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ 4 องค์ สูง 30 เมตร นั่งหันหน้า 4 ทิศ แทนองค์สมเด็จพระสมณโคดม(หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ) กับพระอดีตพุทธเจ้าอีกสามองค์ ได้แก่ พระโกนาคมน์(ทิศใต้) พระกกุสันธะ (ทิศตะวันออก)และพระกัสสปะ(ทิศตะวันตก)องค์หลังนี้ชำรุดผุพังไปมากจากแผ่นดินไหวในปี 1930 โดยแต่ละองค์หลังจะชนกัน สร้างโดยกษัตริย์หมาเซดี ในปี พ.ศ. 1476 ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ตำนานเล่าว่า มีพี่น้อง 4 สาวชาวมอญได้ร่วมใจกันสร้างพระพุทธรูปโดยได้ตั้งสัจจะอธิฐาน ว่าจะถือพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต หากผู้ใดแต่งงานพระพุทธรูปของผู้นั้นจะพังทลายลงมา

 

พระธาตุอินทร์แขวน (Golden Rock) 

ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า บนยอดเขา Paung Laung เหนือระดับ น้ำทะเล 3,615 ฟุต ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวนคือ มีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลกโดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ พระธาตุอินทร์แขวนนับเป็น 1ใน 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าต้องไปสักการะ และตามความเชื่อล้านนาเชื่อว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีจอ (ปีหมา)

 

ไจ้ก์ทิโย (Kyaikhtiyo) ในภาษามอญ หมายความว่า หินรูปหัวฤๅีษีโดยมีตำนานเล่าขานกันในสมัยพุทธกาล
ตำนานที่ 1 : เล่าว่า ฤาษีติสสะผู้หนึ่งได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าที่ได้มอบให้ไว้เป็นตัวแทนพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้งได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ แต่ว่าฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม พอเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขาร โดยมีความตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของตน จึงให้พระอินทร์ช่วยหาก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนกับศีรษะ ซึ่งได้มาจากใต้ท้องมหาสมุทร และก็ให้พระอินทร์นำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระธาตุอินทร์แขวน” แต่ชาวพม่าและชาวมอญจะเรียกพระธาตุอินทร์แขวนว่า “ไจก์ทิโย” ซึ่งเป็นภาษามอญ หมายถึง เจดีย์บนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะฤๅษี
ตำนานที่ 2 : เล่าว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งซ่อนพระเกศาที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้นมาโปรดสัตว์ในถ้ำไว้ในมวยผมมาเป็นเวลานาน เมื่อใกล้ถึงวาระที่จะต้องละสังขารจึงตัดสินใจมอบพระเกศาให้กับพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของลูกศิษย์ที่นำมาฝากให้ฤๅษีช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก แต่ก่อนอื่นพระเจ้าติสสะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายศีรษะของฤๅษี โดยมีพระอินทร์เป็นผู้ช่วยค้นหาจากใต้สมุทรนำมาวางไว้ที่หน้าผา

อ้างอิง: วิกีพีเดียสารานุกรมเสรีี์,myanmartravelinformation.com

เชิญแสดงความคิดเห็น