ประเพณีพื้นเมือง ของประเทศพม่า

0

myanmar-religion

ประเพณีพื้นเมือง สังคมพม่านับได้ว่าเป็นสังคมที่แทบหยุดกาลเวลา และหยุดความเปลี่ยนแปลงไว้ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพม่าปิดประเทศมานานกว่า 3 ทศวรรษ ในขณะที่โลกได้พัฒนาด้านเทคโนโลยีไปมาก ในช่วงเวลานั้นสังคมพม่าอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นเน้นความเป็นอยู่แบบพอมีพอกินและพึ่งพาตนเอง สิ่งจำเป็นจึงมีเพียงแค่ปัจจัยสี่ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค อีกทั้งสิ่งยั่วเย้าในการบริโภคที่เกินความจำเป็นก็มีไม่มาก ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้จึงมีความเรียบง่าย และไม่มีเรื่องที่จะต้องจับจ่ายกันมากนักนับแต่อดีตมา พม่ามีงานประเพณีของแต่ละเดือนในรอบปี เรียกว่า แซะนะล่ะหย่าตี่บะแว หรือประเพณีสิบสองเดือน ในยุคราชวงศ์ของพม่ามีการกำหนดให้งานนี้เป็นพระราชพิธี แม้ว่าในปัจจุบันพม่าจะยังคงสืบทอดงานประเพณีสิบสองเดือนไว้ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง ประเพณีสิบสองเดือนของพม่าเป็นดังนี้ (เดือน 1 ของพม่า เท่ากับเดือน 5 ของไทย และเดือน 12 ไทย เท่ากับเดือน 8 พม่า)

เดือนหนึ่ง เรียกว่า เดือนดะกู (มี.ค.-เม.ย.) เป็นเดือนเริ่มศักราชใหม่ และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน ประเพณีสำคัญของเดือนนี้คืองานฉลองสงกรานต์ พม่าถือเป็นงานฉลองวันส่งท้ายปีเก่าและย่างสู่ปีใหม่ มีการเล่นสาดน้ำกันตลอด ๕ วัน ชาวพม่าถือว่าช่วงเวลานี้เป็นวันมงคล จึงนิยมเข้าวัดรักษาศีล ช่วยกวาดลานวัดและลานเจดีย์ สรงน้ำพระพุทธและเจดีย์ รดน้ำดำหัวพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตลอดจนครูบาอาจารย์ และสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อย งดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต บ้างสร้างกุศลด้วยการปล่อยวัว ควาย และปลา กวีพม่าชื่อ อูบุญญะ บันทึกไว้ว่า ในยามเที่ยงตรงของเดือนดะกู จะเห็นเงาตนเองใกล้ตัวเพียงแค่ ๓ ฝ่าเท้า หากเป็นเดือนอื่น จะเห็นได้ยาวสุดถึง ๖ ฝ่าเท้า ฉะนั้นเดือนดะกูจึงเป็นเดือนที่ตะวันยามเที่ยงอยู่ตรงศีรษะมากที่สุด เมื่อสิ้นวันสงกรานต์ ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้บุตรและจัดงานเจาะหูให้ธิดา ดังนั้นในช่วงหลังสงกรานต์ จะพบเห็นขบวนแห่ลูกแก้วและลูกหญิงไปตาม ท้องถนนและรอบลานองค์เจดีย์ ตามวัดต่างๆจึงมีสามเณรบวชใหม่อยู่กันเต็มแทบทุกวัด

เดือนสอง เรียกว่า เดือนกะโส่ง (เม.ย.-พ.ค.) พม่ามีสำนวนว่า “ดะกูน้ำลง กะโส่งน้ำแล้ง” เดือนกะโส่งจึงเป็นเดือนที่แห้งแล้ง ภาวะอากาศในเดือนนี้ออกจะร้อนอบอ้าวกว่าเดือนอื่นๆ ชาวพุทธพม่าจึงจัดงานรดน้ำต้นโพธิ์กันในวันเพ็ญของเดือนกะโส่ง และถืออีกว่าวันนี้ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าได้กำหนดเรียกวันดังกล่าวว่า วันพุทธะ ในวันนี้ชาวพุทธพม่าจะนิยมปฏิบัติบูชาตามวัดและเจดีย์ ด้วยการรักษาศีลและเจริญภาวนา วัดและเจดีย์จึงมีผู้คนไปทำบุญมากเป็นพิเศษ เดือนกะโส่งนับเป็นเดือนที่ฝนเริ่มตั้งเค้า ชาวนาจะเริ่มลงนา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

เดือนสาม เรียกว่า เดือนนะโหย่ง (พ.ค.-มิ.ย.) เดือนนี้เป็นเดือนเริ่มการเพาะปลูก ฝนฟ้าเริ่มส่อเค้าและโปรยปราย อากาศเริ่มคลายร้อน ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มแตกยอด โรงเรียนต่างเริ่มเทอมใหม่หลังจากปิดภาคฤดูร้อน เดือนนะโหย่งจึงนับเป็นเดือนเริ่มชีวิตใหม่หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเดือน ในสมัยราชวงศ์เคยจัดพิธีแรกนาขวัญในเดือนนี้ พม่าเรียกพิธีนี้ว่า “งานมงคลไถนา” ส่วนในทางศาสนา เคยเป็นเดือนสอบท่องหนังสือ พุทธธรรมสำหรับพระเณร กล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าตาหลุ่นมีงตะยา แห่งอังวะยุคหลัง ในอดีตจะสอบเฉพาะท่องหนังสือด้วยปากเปล่า แต่ปัจจุบันมีทั้งการสอบเขียนและสอบท่อง และได้ย้ายไปจัดในเดือนดะกูซึ่งเป็นเดือนแรกของปี

เดือนสี่ เรียกว่า เดือนหว่าโส่ (มิ.ย.-ก.ค.) ถือเป็นเดือนสำคัญทางพุทธศาสนา ด้วยเป็นเดือนเข้าพรรษา พม่ากำหนดให้วันเพ็ญเดือนหว่าโส่เป็นวันธรรมจักรเพื่อน้อมรำลึกวันปฏิสนธิ วันออกบวช และวันปฐมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนี้ชาวพุทธพม่าจะเข้าวัดทำบุญและนมัสการพุทธเจดีย์กันอย่างเนืองแน่น และถัดจากวันธรรมจักร คือ วันแรม ๑ ค่ำของเดือนหว่าโส่ จะเป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มจำพรรษาในเดือนนี้สาวๆพม่าในหมู่บ้านมักจะจับกลุ่มออกหาดอกไม้นานา เรียกรวมๆว่า ดอกเข้าพรรษาซึ่งขึ้นอยู่ตามชายป่าใกล้หมู่บ้าน เพื่อนำมาบูชาพุทธเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีการถวายจีวรและเทียนที่วัด กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งในเดือนหว่าโส่ คือ งานบวชพระ ด้วยถือว่าวันเพ็ญเดือนหว่าโส่นั้น เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้กับเบญจวัคคี ในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ การบวชพระและเณรสำหรับผู้สอบผ่านพุทธธรรมตามที่จัดสอบกันในเดือนนะโหย่งที่ผ่านมา ฤดูฝนจะเริ่มในเดือนหว่าโส่ และในเดือนหว่าโส่นี้ยังเป็นเดือนลงนาปลูกข้าว เล่ากันว่าชาวนาจะลงแขกปักดำข้าวในนา พร้อมกับขับเพลงกันก้องท้องทุ่งนา

เดือนห้า เรียกว่า เดือนหว่าข่อง (ก.ค.-ส.ค.) เป็นเดือนกลางพรรษา และเป็นเดือนที่มีงานบุญสลากภัต พม่าเรียกว่า สะเยดั่งบแว แต่เดิมใช้การจับติ้ว ภายหลังหันมาใช้กระดาษม้วนเป็นสลาก ปัจจุบันการจัดงานบุญสลากภัตมีกล่าวถึงกันน้อยลง แต่กลับมีงานที่เด่นดังระดับประเทศขึ้นมาแทน คืองานบูชาผีนัตที่หมู่บ้านต่องปะโยง ณ ชานเมืองมัณฑะเล เดือนนี้เป็นเดือนที่ฝนมักตกหนักกว่าเดือนอื่น

เดือนหก เรียกว่า เดือนต่อดะลีง (ส.ค.-ก.ย.) เป็นเดือนน้ำหลาก น้ำตามแม่น้ำลำคลองจะขึ้นเอ่อเต็มตลิ่ง หลายท้องถิ่นจะจัดงานแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน และในเดือนนี้เช่นกันจะพบเห็นแพซุงล่องตามลำน้ำเป็นทิวแถว โดยเฉพาะในแม่น้ำอิระวดี แพซุงจะล่องจากเหนือสู่ปลายทาง ณ ท่าน้ำเมืองย่างกุ้ง และเดือนนี้อีกเช่นกันที่ชาวประมงจะเริ่มลงอวนจับปลา ด้วยเป็นเดือนที่มีปลาออกจะชุกชุมเป็นพิเศษ

เดือนเจ็ด เรียกว่า เดือนดะดีงจุ๊ต (ก.ย.-ต.ค.) ในวันเพ็ญของเดือนนี้จะมีการทำปวารณาในหมู่สงฆ์ ชาวพุทธพม่าเรียกวันนี้เป็นวันอภิธรรม ด้วยเป็นวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ทรงเทศนาพระอภิธรรมตลอด ๓ เดือนในพรรษาที่ผ่านมา ชาวพุทธจะจัดงานจุดประทีปเพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีงานลอยโคมไฟ บางที่จะทำโคมลอยขนาดใหญ่เป็นรูปโพตู่ด่อ หรือปะขาว รูปช้าง และรูปเสือ เป็นอาทิ นัยว่าทำเพื่อบูชาพระธาตุจุฬามณี ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ในรัฐฉานจะมีงานบูชาพระเจ้าผ่องด่ออูซึ่งเป็นพุทธรูป ๕ องค์ ที่หมู่บ้านนันฮู) ณ กลางทะเลสาปอีงเล กล่าวกันว่าพระเจ้าผ่องด่ออูเป็นพระพุทธรูปที่มีมาแต่สมัยพระเจ้าอะลองสี่ตู่แห่งพุกาม ต่อจากวันอภิธรรมจะเป็นวันออกจากพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ ของเดือนดะดีงจุ๊ต ในเดือนดะดีงจุ๊ตนี้ยังจัดประเพณีไหว้ขมาต่อบิดามารดาและครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ชาวพม่ายังเริ่มจัดงานมงคลสมรสกันในเดือนนี้ โดยเริ่มจัดนับแต่วันแรม ๑ ค่ำ ของเดือนตะดีงจุ๊ต ด้วยเชื่อว่าช่วงในพรรษานั้น กามเทพหรือเทพสัตตะภาคะจำต้องพักผ่อน จึงต้องเลี่ยงจัดงานแต่งงานในช่วงเวลาดังกล่าว จนกว่าจะพ้นช่วงพรรษา

เดือนแปด เรียกว่า เดือนดะส่องโมง (ต.ค.-พ.ย.) เป็นเดือนเปลี่ยนฤดูจากหน้าฝนย่างเข้าหน้าหนาว กล่าวคือครึ่งแรกของเดือนจะเป็นท้ายฤดูฝน และครึ่งหลังของเดือนจะเป็นช่วงต้นหนาว ชาวนาจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวกันในเดือนนี้ ในทางพุทธศาสนานั้น เดือนดะส่องโมงถือเป็นเดือนสำหรับงานทอดกฐิน ซึ่งที่จริงพม่ากำหนดช่วงเวลาจัดงานทอดกฐินเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำกลางเดือนดะดีงจุ๊ต จนถึงวันเพ็ญกลางเดือนดะส่องโมง รวมเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ในงานกฐินนี้จะมีการแห่ครัวทานที่พม่าเรียกว่า ปเดต่าบี่งหรือ ต้นกัลปพฤกษ์ และในวันสุดท้ายของฤดูกฐิน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญของเดือนดะส่องโมงนั้น ชาวพุทธพม่าจะมีการจัดงานจุลกฐิน พม่าเรียกจุลกฐินนี้ว่า มโตตี่งกาง แปลตามศัพท์ว่า “จีวรไม่บูด” เทียบได้กับอาหารที่ไม่ทิ้งให้ค้างคืนจนเสีย มโตตี่งกางเป็นกฐินที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เริ่มแต่ปั่นฝ้ายให้เป็นด้าย จากด้ายทอให้เป็นผืนผ้า แล้วย้อมตัดเย็บเป็นจีวร ในเดือนนี้ยังมีพิธีตามประทีป และทอดผ้าบังสุกุล หรือปั้งดะกู่ อีกด้วย

เดือนเก้า เรียกว่า เดือนนะด่อ (พ.ย.-ธ.ค.) เป็นเดือนที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวนา จะนวดข้าวและสงฟางสุมเป็นกอง เดิมเคยเป็นเพียงเดือนสำหรับบูชานัตหลวงหรือผีหลวงที่ เขาโปปาแห่งเมืองพุกาม แต่ปัจจุบันพม่ากำหนดให้มีงานเทิดเกียรติกวีและนักปราชญ์ของพม่าแทน โดยจัดในวันขึ้น ๑ ค่ำ งานนี้เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ทุกๆปีจะจัดให้มีการอ่านบทประพันธ์และการเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมกันตามสถานศึกษา และตามย่านชุมชนต่างๆ สำหรับในยุคราชวงศ์เคยถือเอาเดือนนี้จัดพระราชพิธีเพื่อมอบบรรดาศักดิ์ให้กับนักรบนักปกครอง ตลอดจนกวีที่มีผลงานดีเด่น ตัวอย่างบรรดาศักดิ์สำหรับนักรบมีเช่น เนมะโยเชยยะสูระ และมหาสีริเชยยะสูระ เป็นต้น ส่วนบรรดาศักดิ์สำหรับกวี อาทิ นัตฉิ่งหน่อง ปเทสะราชา ชเวต่องนันทะสู และเส่งตะจ่อตู่ เป็นต้น แต่เดิมนั้นเดือนนี้ยังเป็นเดือนสำหรับการคล้องช้างอีกด้วย

เดือนสิบ เรียกว่า เดือนปยาโต่ (ธ.ค.-ม.ค.) เดือนนี้เป็นเดือนที่หนาวจัด กวีหญิงของพม่าสมัยคองบอง ชื่อแหม่เควฺ เคยบันทึกไว้ว่า “เดือนปยาโต่ หนาวเหน็บจนกายสั่น ผิงไฟยังมิอุ่น ห่มผ้าหลายผืนยังมิคลาย” ในเดือนนี้ชาวไร่ที่กำลังเก็บเกี่ยวงาจะต้องคอยเฝ้าระวังฝนหลงฤดู หากฝนตกลงมาในเวลาที่เก็บงา งาก็จะเสียหาย ชาวนาพม่าจะเรียกฝนที่ตกยามนี้ว่า ฝนพังกองงา ความหนาวเย็นจะล่วงมาจนถึงเดือนดะโบ๊ะดแวซึ่งเป็นเดือนถัดมา ในอดีตเคยจัดงานอัศวยุทธโดยมีการประลองยุทธด้วยช้างศึก ม้าศึก และการใช้อาวุธต่างๆ อาทิ ดาบ หอก เป็นต้น รัฐบาลพม่าเคยรื้อฟื้นจัดงานนี้ในปีท่องเที่ยวพม่า แต่ก็จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น

เดือนสิบเอ็ด เรียกว่า เดือนดะโบ๊ะดแว (ม.ค.-ก.พ.) ในเดือนนี้ชาวพม่ารำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ย่อมต้องทรงผจญต่อภัยหนาวเช่นกัน และเชื่อว่าการผิงไฟจะช่วยให้ธาตุ ๔ คืนสู่สมดุลย์ ชาวพม่าจึงจัดงานบุญบูชาไฟแด่พระพุทธและพระเจดีย์ซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า เรียกว่างานหลัวไฟพระเจ้า หรือ งานบุญไฟ) ปัจจุบันยังคงมีงานบุญเช่นนี้เฉพาะในบางท้องที่ของพม่าตอนบน ในเดือนนี้ยังมีงานกวนข้าวทิพย์ ซึ่งจัดในช่วงข้างขึ้นของเดือน กล่าวว่าพม่าจัดงานนี้มาแต่สมัยญองยาง และในเดือนนี้อีกเช่นกันที่ชาวบ้านจะเริ่มเกี่ยวข้าวและปีนเก็บน้ำตาลสดจากยอดตาล ซึ่งพบเห็นทั่วไปในเขตพม่าตอนกลางและตอนบน

เดือนสิบสอง เรียกว่า เดือนดะบอง (ก.พ.-มี.ค.) ในเดือนนี้อากาศจะเริ่มคลายหนาว และเริ่มเปลี่ยนไปสู่ฤดูร้อนในช่วงหลังของเดือน ประเพณีสำคัญคืองานก่อเจดีย์ทราย โดยจะก่อทรายเป็นรูปจำลองเขาพระสุเมรุ ทำยอดซ้อนเป็น ๕ ชั้น พม่าเคยจัดประเพณีนี้ในยุคราชวงศ์ ปัจจุบันไม่นิยมจัดแล้ว ตามตำนานกล่าวว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่เริ่มมีการสร้างเจดีย์พระเกศธาตุหรือพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งตกในปีมหาศักราช ๑๐๓ (พม่าถือว่าปีนี้เป็นปีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้)ชาวพม่าจึงกำหนดเดือนดะบองเป็นเดือนสำหรับงานบูชาเจดีย์ชเวดากองด้วยเช่นกัน เดือนดะบองนี้ถือเป็นเดือนสุดท้ายของปีตามศักราชพม่า

ในการกำหนดวันประเพณีเป็นวันหยุดราชการนั้น ทางรัฐบาลกำหนดไว้เพียงบางวัน ได้แก่ วันสงกรานต์ ในเดือนดะกู จัดราววันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี, วันรดน้ำต้นโพธิ์ หรือ วันพุทธะ ในวันเพ็ญของเดือนกะโส่ง ตรงกับวันวิสาขบูชาของไทย, วันธรรมจักร ในวันเพ็ญของเดือนหว่าโส่ ตรงกับวันอาสาฬหบูชาของไทย, วันอภิธรรม ในวันเพ็ญของเดือนดะดีงจุ๊ต ตรงกับวันออกพรรษาของไทย และวันตามประทีป ในวันเพ็ญของเดือนดะส่องโมง ตรงกับวันลอยกระทงของไทย
สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ในอดีตนั้นงานประเพณีสิบสองเดือนของพม่าจะรวมเอาการบูชานัตหรือผีหลวงไว้ด้วย โดยจัดกันในเดือนเก้า(เดือนนะด่อ) ในระยะหลังได้เปลี่ยนเป็นงานเทิดเกียรติกวี อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังคงรักษาพิธีบูชาผีนัตไว้ และยังจัดงานใหญ่กันในเดือนหว่าข่อง(เดือนห้า)

เชิญแสดงความคิดเห็น