ประเทศอินโดนีเซียเป็นอย่างไร

0

indonesia_flagประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุด และใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะใหญ่ ๆ ห้าเกาะ และหมู่เกาะเล็ก ๆ อีกประมาณ ๓๐ หมู่เกาะ รวมแล้วมีอยู่ ๑๓,๖๗๗ เกาะ เป็นเกาะที่มีคนอยู่อาศัยประมาณ ๖,๐๐๐ เกาะ รูปลักษณะหมู่เกาะจะวางตัวยาวไปตามแนวเส้นศูนย์สูตร คล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งซีกหงาย 

            คำว่าอินโดเนเซีย มาจากคำในภาษากรีกสองคำคือ อินโดซ หมายยถึง อินเดียตะวันออก และนิโซสหมายถึงเกาะ จึงมีความหมายว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันออก 

            หมู่เกาะอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิค จึงเป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทร และสะพานเชื่อมระหว่างสองทวีปคือ ทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย 

            อินโดนีเซียมีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีพื้นน้ำใหญ่เป็นสี่เท่าของพื้นที่แผ่นดิน อาณาเขตจากตะวันออกไปตะวันตก ยาวประมาณ ๕,๑๐๐ กิโลเมตร จากเหนือจรดใต้ยาวประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร 

            เกาะใหญ่ทั้งห้าเกาะ ประกอบด้วย เกาะสุมาตรา มีพื้นที่ประมาณ ๔๗๓,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร  เกาะกาลิมันตัน มีพื้นที่ประมาณ ๕๓๙,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร (เฉพาะดินแดนของอินโดนีเซีย ซึ่งประมาณสองในสามของพื้นที่เกาะบอร์เนียวทั้งหมด) เกาะสุลาเวสี มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๙,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร  เกาะชวา มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๒,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร และเกาะอิเรียนจายา (อิเรียนตะวันตก) มีพื้นที่ประมาณ ๔๒๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
หมู่เกาะอินโดนีเซีย แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ ออกได้เป็นสี่ส่วนคือ
หมู่เกาะซุนดาใหญ่  ประกอบด้วย เกาะสุมาตรา เกาะชวา กาสิมันตัน และสุลาเวสี
หมู่เกาะซุนดาน้อย  รวมเกาะต่าง ๆ จากบาหลีไปทางตะวันออกถึงตะมอร์
หมู่เกาะโมลุกกะ (มาลุกุ)  ประกอบด้วย หมู่เกาะที่อยู่ระหว่างเกาะอิเรียนจายา ถึงเกาะสุลาเวสี
หมู่เกาะอิเรียนจายา

map_of_indonesia


ประเทศอินโดนีเซีย  มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือของเกาะกาลิมันตัน ติดต่อกับรัฐซาราวัคและรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย โดยมีสันเขาเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอิเรียนจายา  ติดต่อกับน่านน้ำของประเทศฟิลิปปินส์
ทิศตะวันออก  ติดต่อกับประเทศปาปัวนิวกินี
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ติดต่อกับน่านน้ำของประเทศมาเลเซีย โดยมีช่องแคบมะละกาเป็นพรมแดนระหว่างเกาะสุมาตรากับประเทศมาเลเซีย

เมืองหลวง ได้แก่ จาการ์ตา

เมืองสำคัญ ได้แก่ จาการ์ตา สุราบายา บันดุง เมดาน เซมารัง ปาเลมบัง
ภูมิอากาศ : อากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร มี 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม-ตุลาคม) และฤดูฝน (พฤศจิกายน-เมษายน)
ประชากร : ประมาณ 220 ล้านคน ประกอบด้วยชนพื้นเมืองหลากหลายกลุ่มซึ่งพูดภาษาต่างกันกว่า 583 ภาษา ร้อยละ 61 อาศัยอยู่บนเกาะชวา
จำนวนประชากรในเมืองสำคัญ : จาการ์ตา ประชากรประมาณ 10 ล้านคน สุราบายาประมาณ 2.5 ล้านคน บันดุงประมาณ 2.3 ล้านคน เมดาน ประมาณ 2.1 ล้านคน เกาะบาหลีประมาณ 3 ล้านคน
ศาสนา : ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 3.5 นับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก ร้อยละ 1.8 นับถือศาสนาฮินดู และร้อยละ 1.3 นับถือศาสนาพุทธ
ภาษา : ภาษาประจำชาติ ได้แก่ ภาษาอินโดนีเซีย หรือ Bahasa Indonesia
การศึกษา : ร้อยละ 90 ของประชากรสามารถอ่านออกเขียนได้ มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 49 แห่ง และของเอกชนกว่า 950 แห่ง
สกุลเงิน : รูเปียห์ (Rupiah) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 9,500 รูเปียห์ (มกราคม 2549)
เขตการปกครอง : อินโดนีเซียแบ่งการปกครองเป็น 30 จังหวัด และเขตการปกครองพิเศษ 3 เขต ได้แก่ กรุงจาการ์ตา นครย็อกยาการ์ตา และจังหวัดอาเจห์
ระบบการเมืองการปกครอง  : อินโดนีเซียมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหารรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2488 ได้กำหนดให้ใช้หลักปัญจศีล เป็นหลักในการปกครองประเทศ ประกอบด้วย
1) การนับถือพระเจ้าองค์เดียว
2) การเป็นมนุษย์ที่เจริญและคงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม
3) ความเป็นเอกภาพของอินโดนีเซีย
4) ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน และ
5) ความยุติธรรมในสังคมชาวอินโดนีเซียทั้งมวล
[mappress mapid=”1″]

เชิญแสดงความคิดเห็น