สภาพทางสังคม

0

ชีวิตความเป็นอยู่  ฐานะความเป็นอยู่ของประชากรมีความแตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน หลังจากอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ก็ได้เริ่มพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นหลายแห่ง มีหน่วยงานที่สำคัญคือ กระทรวงกิจการของสังคม
            นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้วยังมีองค์การ และสมาคมต่าง ๆ ที่พยายามเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาของสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยยึดหลักขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ระบบโกตองโรยองได้แก่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

Indonesian-child

            อาชีพ  อาชีพหลักของประชาชนอินโดนีเซียได้แก่
                การเพาะปลูก  ผลิตผลที่สำคัญทำรายได้ให้กับประเทศได้แก่ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด มันเทศ ยาง มะพร้าวและน้ำตาล
                การทำป่าไม้  อินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าประมาณ ๑๑๔ ล้านเฮกตาร์ และนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตไม้แปรรูป จึงเป็นอาชีพสำคัญอาชีพหนึ่งของประชาชน
                การประมง  แม้อินโดนีเซียจะเป็นเกาะ แต่อาชีพทางการประมงยังไม่ค่อยเจริญ ประชาชนที่มีอาชีพประมงก็เป็นประชาชนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล การใช้เครื่องมือทางประมง ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็นการประมงขนาดย่อม
                การเลี้ยงสัตว์  มีการเลี้ยงกันเกือบทุกชนิด แต่ที่นิยมกันมาก และมีปริมาณการผลิตสูงได้แก่วัวเนื้อ วัวนม ควาย แพะและแกะ
                การทำเหมืองแร่  เป็นอาชีพสำคัญของประชากร เพราะประเทศอินโดนีเซียอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแร่ธาตุต่าง ๆ
                การอุตสาหกรรม  อินโดนีเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตเครื่องมือทางการเกษตร โรงงานยาสูบ โรงงานอุตสาหกรรมไม้แปรรูป โรงงานเครื่องหนัง โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานสร้างรถยนต์ และโรงงานสร้างเครื่องบิน
            การอพยพย้ายถิ่นฐาน  เพื่อคลี่คลายความหนาแน่นของประชากรในบางแห่ง และเพื่อกระจายให้เกิดความสมดุลของประชากร รัฐบาลจึงได้มีการอพยพ ย้ายถิ่นฐานเช่น ย้ายผู้ที่ชอบทำการกสิกรรมให้ไปอยู่ในภูมิภาคที่มีคนอยู่น้อย รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในการย้ายถิ่นฐาน โดยจัดหาที่ดิน บ้าน รวมทั้งโรงเรียนระดับประถม และมัธยม การสาธารณสุขและสิ่งจำเป็นขั้นมูลฐานเช่น ถนน สหกรณ์ ศาลาประชาชน ศาสนสถาน และอุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น
            โดยที่เกาะชวาซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองหลวง มีประชากรหนาแน่น และส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาสูง มีฐานะดี เป็นคนมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดมาก เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้เข้ามารุ่งเรืองอยู่จนเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาอยู่ก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๔๓ – ๗๔๓ นอกจากนี้เกาะชวายังเป็นศูนย์ทางวัฒนธรรม และโดยความเชื่อในปัจจุบัน ประมุขของรัฐหรือประธานาธิบดีต้องเป็นคนชวา รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะพยายามอพยพคนชวาไปอยู่ในติมอร์ตะวันออก (ก่อนแยกตัวเป็นอิสระ) สุมาตราเหนือ (เฉพาะที่อาเสรี) สุลาเวสีและกาลิมันตัน
            จิตสำนึกของชนกลุ่มต่าง ๆ ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ  เนื่องจากอินโดนีเซียประกอบด้วย ชนหลายเผ่าพันธ์ และกระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ทั่วประเทศ ชนเหล่านี้มีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมแตกต่างกันไป ทำให้รัฐบาลต้องหาทางที่จะให้ชนเหล่านี้ มีจิตสำนึกในการเป็นคน เชื่อชาติเดียวกัน ด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ใช้ภาษาเดียวกันเป็นภาษากลางประจำชาติ (ภาษาฮาซา อินโดนีเซีย) สร้างคำขวัญโน้มน้าวจิตใจขึ้นเช่น ประเทศเดียว ชาติเดียว ภาษาเดียว ปลูกฝังหลักปัญจศีล ขนบธรรมเนียมโกตองเรยอง และบินเนกาตุงกาลอิกะ (สามัคคีในชนต่างเผ่า) ให้ประชาชนยึดมั่น
            โดยทั่วไปแล้วชาวอินโดนีเซีย จะมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอันดี เพราะได้ต่อสู่เพื่อความเป็นเอกราชมาด้วยกัน และรู้ถึงความลำบากยากแค้น ในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตกมาเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวอินโดนีเซียมีความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตลอด
            ในอดีตที่ชาวอินโดนีเซียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของคนต่างชาติมาเป็นเวลาช้านาน ทำให้ชาวอินโดนีเซียรังเกียจชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรป ด้วยเหตุนี้อินโดนีเซียจึงพยายามดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระ ไม่ผูกพันกับประเทศใด พยายามสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ เพื่อครองความเป็นใหญ่ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
            ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มต่าง ๆ  อินโดนีเซียมีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่มากกว่า ๓.๕ ล้านคน เป็นคนจีนที่ถือหนังสือเดินทางของประเทศจีนเกือบ ๑ ล้านคน ที่เหลือเป็นผู้ที่ได้รับสัญชาติอินโดนีเซียแล้ว ชาวจีนส่วนใหญ่เป็นผู้ควบคุมเศรษฐกิจที่สำคัญภายในประเทศ และบางกลุ่มยังให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน ในอินโดนีเซียด้วย ทำให้ชาวอินโดนีเซีย มีความรู้สึกรังเกียจชาวจีนตลอดมา และมักจะมีการปะทะกันระหว่างชนสองเชื้อชาตินี้อยู่เสมอ ระหว่างการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ มีชาวจีนถูกสังหารไปเป็นจำนวนมาก รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ใช้มาตรการกำหนดเขตที่อยู่ และการเนรเทศชาวจีนที่มีพฤติการณ์ บ่อนทำลายอินโดนีเซีย ออกนอกประเทศ แต่ก็ไม่สามารถลดอิทธิพลของชาวจีนลงได้ ต่อมารัฐบาลอินโดนีเซียได้ผ่อนปรนให้ชาวจีนที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โอนสัญชาติเป็นชาวอินโดนีเซียได้ 

ขอขอบคุณ www1.tv5.co.th

เชิญแสดงความคิดเห็น