เส้นทางคมนาคม

0

กัมพูชามีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับภายนอกและในประเทศครบทุกด้าน 

ทางอากาศ มีสนามบินพาณิชย์ทางวิ่งเดียว ( Single Runway ) ที่ได้มาตรฐานสากลและเปิดใช้สำหรับเครื่องบินพาณิชย์ที่บินประจำและเครื่องเหมาลำระหว่างประเทศ 2 แห่ง คือ (1) สนามบินนานาชาติพนมเปญ หรือสนามบินโปเชนตง สามารถรองรับเครื่องบินได้ถึงขนาดโบอิ้ง 747 ( 500 ที่นั่ง ) กับ (2) สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ ในจังหวัดเสียมราฐ ซึ่งยูเนสโก

( UNESCO ; United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization )ผู้ให้ทุนในการอนุรักษ์นครวัด – นครธม กำหนดให้รองรับเครื่องบินได้ไม่เกินขนาดโบอิ้ง 757

(200 ที่นั่ง) รวมทั้งยังมีสนามบินที่ยังไม่เปิดบริการอีกหลายแห่ง

ปัจจุบันมีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพ – พนมเปญ – กรุงเทพ วันละ 6 เที่ยวบินเป็นของบริษัท การบินไทย (TG) 2 เที่ยวบิน การบินกรุงเทพฯ (PG) 3 เที่ยวบิน และแอร์เอเซีย (FD) 1 เที่ยวบิน และมีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพ – เสียมราฐ – กรุงเทพ ของการบินกรุงเทพฯ วันละ 4 – 6 เที่ยวบิน 

ทางน้ำ มีท่าเรือนานาชาติ 3 แห่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือ ( 1 ) ท่าเรือนานาชาติสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ติดอ่าวไทยในกรุงพระสีหนุ (เดิมชื่อจังหวัดกัมปงโสม) ทางตอนใต้ของประเทศ ห่างจากกรุงพนมเปญโดยทางรถยนต์ 226 กิโลเมตร( ทางหลวงหมายเลข 4 ) มีหน้าท่ากว้าง 550 เมตรสามารถรองรับเรือที่ระวาง 10,000 – 15,000 ตัน กินน้ำลึกไม่เกิน 8.5 เมตรได้ในเวลาเดียวกัน 2 – 3 ลำ กับ ( 2 ) ท่าเรือนานาชาติพนมเปญ ซึ่งอยู่ลึกเข้ามาประมาณ 330 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำโขงที่ชายฝั่งทะเลจีนใต้ของประเทศเวียดนาม และจากการที่เป็นท่าเรือที่อยู่ในลำน้ำ ทำให้ความสามารถในการรองรับเรือในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากจะต่างกันมากทั้งจากอุปสรรคของการเดินเรือและระดับความลึกหน้าท่าคือ สามารถรองรับเรือระวาง 2,000 ตันกับ 5,000 ตันในแต่ละฤดูตามลำดับ สำหรับท่าเรือแห่งที่ 3 เป็นท่าเรือเอกชนชื่อ ท่าเรือออกญามอง หรือ Oknha Mong Port ซึ่งตั้งอยู่ติดอ่าวไทยในเขตจังหวัดเกาะกง เหนือขึ้นมาจากท่าเรือสีหนุวิลล์ทางรถยนต์ประมาณ 40 กิโลเมตร หรือประมาณ 180 กิโลเมตรจากกรุงพนมเปญ เป็นท่าเรือที่เปิดดำเนินการควบคู่กับการขยายขนาดหน้าท่า ปัจจุบันสามารถรองรับเรือระวาง 500 – 1000 ตัน

ทางบก มีทั้งทางรถไฟ และทางรถยนต์ แต่ยังมีสภาพไม่สมบูรณ์ โดย

ทางรถไฟ เป็นรางเดี่ยวขนาดกว้าง 1.0 เมตรมี 2 เส้นทางคือ
(1) ปอยเปต -บันเตียเมียนจัย – พระตะบอง – โพธิสัด – พนมเปญ ปัจจุบันใช้เดินรถเพียงพนมเปญ – บันเตียเมียนจัย
(2) พนมเปญ – ตาแก้ว – กัมปอต – สีหนุวิลล์

เส้นทางรถไฟทั้ง 2 เส้นทางมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม รถไฟไม่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วเท่าที่ควรและยังเป็นที่กังวลสำหรับความปลอดภัย ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร แต่ยังคงมีการใช้เพื่อการขนส่งสินค้าที่ไม่ต้องการความเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้เคยแจ้งว่า ยินดีจะให้ความช่วยเหลือเหล็กรางรถไฟและบูรณะ

ทางรถยนต์ กัมพูชาจำแนกเส้นทางรถยนต์สายหลักและสายรองโดยใช้ตัวเลขกำกับในลักษณะเดียวกับไทย กล่าวคือเส้นทางสายหลักที่ออกจากพนมเปญไปยังภูมิภาคต่างๆ จะใช้เลขหลักเดียว ( National Road ) ส่วนเส้นทางสายรอง( Feeder Road )จะมีหมายเลขแยกเป็น 2 หรือ 3 หลักแยกย่อยจากหมายเลขถนนสายหลัก ทั้งนี้ ถนนสายหลักของกัมพูชามี 7 สายนับเวียนซ้ายตามเข็มนาฬิกา เริ่มสายที่ 1 จากพนมเปญไปทางตะวันออกจนจรดไปพรมแดนทางใต้ของเวียดนาม วนไปจนถึงสายที่ 7 จากพนมเปญ จรดแขวงจำปาศักดิ์ของลาว ทุกเส้นทางยังเป็นทาง 2 ช่องจราจร ( ไป 1 กลับ 1 )โดยแต่ละเส้นทางจะพาดผ่านจังหวัดต่างๆ

cambodia-local-street-traffic-1024x768

ถนนหมายเลข 1 จากพนมเปญไปทางตะวันออก ผ่านจังหวัดกันดาล ข้ามแม่น้ำ โขง เข้าจังหวัดไพรเวง จังหวัดสวายเรียง สุดทางที่ด่านพรมแดนนานาชาติบาเวต ( ติดต่อกับด่านมอกไบของเวียดนาม ) ระยะทางรวม 167 กม. ช่วง 60 กม.แรกพนมเปญ – แม่น้ำโขง เป็นถนนราดยางชำรุดเป็นช่วงๆ ที่แม่น้ำโขงยังไม่มีสะพานจึงต้องข้ามแพ ขึ้นฝั่งตรงข้ามแล้วถนนราดยางดีตลอดถึงชายแดน ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 3– 3.5 ชั่วโมง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงถนนช่วงพนมเปญ-แม่น้ำโขง และสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำโขงแล้ว คาดว่า เส้นทางจะสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2551

ถนนหมายเลข 2 จากพนมเปญไปทางใต้ ผ่านจังหวัดกันดาล แล้วไปสุดทางที่พนมเดิน จังหวัดตาแก้ว ( มีด่านคนท้องถิ่นข้ามไปเวียดนามที่ หนาเบิง ) ระยะทาง 121 กม. ถนนราดยางไหล่ทางแคบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 3 จากพนมเปญไปทางใต้ เกาะตะเข็บจังหวัดกันดาล กับ กัมปงสะปือ ผ่านจังหวัดตาแก้วเข้าจังหวัดกัมปอต แล้วเลียบชายฝั่งไปทางตะวันตกจนจรดทางหลวงหมายเลข 4 ในเขตกรุงพระสีหนุ ระยะทาง 202 กม. ช่วงแรกพนมเปญ – กัมปอต148 กม. ถนนราดยางแต่เป็นคลื่น ช่วงหลัง เลียบชายฝั่งทางกำลังขยายรวมไหล่ทางเป็น 4 เลน ราดยางคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 80 ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 3.5 – 4.5 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 4 จากพนมเปญผ่านจังหวัดกัมปงสปือ และจังหวัดเกาะกง จนจรดชายทะเลอ่าวไทย บริเวณท่าเรือกรุงพระสีหนุ ระยะทาง 226 กม. เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญและถือเป็นราดยางที่ดีที่สุดตลอดเส้นทางของกัมพูชา ใช้เวลาเดินทาง 3.5 – 4 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 5 จากพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่จังหวัดกันดาล เข้าตัวจังหวัดกัมปงชะนัง จังหวัดโพธิสัด จังหวัดพระตะบอง จังหวัดบันเตียเมียนจัย และสิ้นสุดทางที่ด่านพรมแดนนานาชาติปอยเปต – อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย ระยะทางรวม 407 กม. เป็นถนนราดยางใช้ได้ดี ยกเว้นช่วงจากอำเภอศรีโสภณ จังหวัด บันเตียเมียนจัย ไปพรมแดนระยะทาง 49 กม. เป็นถนนราดยางที่ชำรุด หน้าแล้งพอใช้ได้ หน้าฝนทรุดโทรมมาก ตลอดเส้นทางใช้เวลารวม 5.5 – 7.5 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 6 จากพนมเปญขึ้นไปทางเหนือผ่านเขตจังหวัดกันดาล กัมปงจาม เข้าตัวจังหวัดกัมปงธม จังหวัดเสียมราฐ แล้วไปบรรจบกับถนนหมายเลข 5 ที่อำเภอศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนจัย ระยะทางรวม 416 กม. เป็นถนนราดยางใช้ได้ดี ยกเว้นช่วงเสียมราฐ – ศรีโสภณ ระยะทาง 90 กม.เป็นลูกรังหน้าแล้งพอใช้ได้ หน้าฝนไม่สะดวก ตลอดเส้นทางใช้เวลา 6.5 – 8 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 7 แยกจากถนนหมายเลข 6 ที่บ้านเชิงไพร จังหวัดกัมปงจามไปทางตะวันตก ผ่านตัวจังหวัด มุ่งสู่ชายแดนด้านเวียดนามก่อนเลี้ยวขึ้นไปทางเหนือเข้าสู่ตัวจังหวัดกระแจะ จังหวัดสตรึงไตรย์ ไปจนจรดด่านพรมแดนนานาชาติบ้านโอสวาย – เวือนคำ แขวงจำปาศักดิ์ของประเทศลาว ระยะทางรวม 461 กม. ช่วงแรกพนมเปญ-กระแจะ ประมาณ 280 กม. เป็นถนนราดยางใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.5-4.5 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นทางลูกรังยังไม่ได้สำรวจ

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชากำลังเร่งรัดขอความช่วยเหลือจากนานาชาติในการปรับปรุงการคมนาคมในทุกด้าน โดยคาดว่า ภายในอีก 3 ปีข้างหน้าถนนสายหลักจะราดยางสมบูรณ์ตลอดทั้ง 7 เส้นทาง (แล้วคงต้องกลับมาซ่อมทางราดยางเดิมที่เสียหาย) สำหรับประเทศไทยได้ตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านถนนแก่กัมพูชาแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ ( 1 ) ทางหลวงหมายเลข 48 แยกจากทางหมายเลข 4 ที่ กม.130 ไปทางตะวันตกจนถึงจังหวัดเกาะกงซึ่งติดกับจังหวัดตราดของไทย โดยเป็นการให้เปล่าสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำ 4 แห่ง และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงแนวถนนลูกรังเดิมเป็นถนนราดยางตลอดเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร กับ ( 2 ) ทางหลวงหมายเลข 67 แยกจากทางหลวงหมายเลข 6 ที่ตัวจังหวัดเสียมราฐ ขึ้นไปทางเหนือ จนจรดด่านชายแดนไทย – กัมพูชา( ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ – อันลองเวง จังหวัดอุดรมีจัย ) โดยเป็นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงแนวถนนลูกรังเดิมเป็นถนนราดยางตลอดสาย รวมระยะทางประมาณ 138 กิโลเมตร และฝ่ายกัมพูชาได้ขอให้ไทยพิจารณาให้ความช่วยเหลืออีก 1 เส้นทาง คือ ทางหลวงหมายเลข 68 แยกจากทางหลวงหมายเลข 6 ที่อำเภอกระลัน ทางตะวันตกของจังหวัดเสียมราฐ ขึ้นไปทางเหนือ จนจรดด่านชายแดนไทย – กัมพูชา ( ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ – สำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ) ระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร

เชิญแสดงความคิดเห็น