ความสัมพันธ์ไทยกับบรูไน

0

ความสัมพันธ์ทั่วๆไป

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไน ฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2526 ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ ทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่เคยมีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์และมักเป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบสหประชาชาติ

ปัจจุบันมีคนไทยในบรูไน ฯ ประมาณ 9,500 คน โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพคนงานก่อสร้าง ลูกจ้างร้านขายปลีก ลูกจ้างอู่ซ่อมรถ ลูกจ้างในร้านอาหาร และค้าขาย

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนฯ มีความใกล้ชิดและดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ ทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่เคยมีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์และมักเป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบสหประชาชาติ

ล่าสุดสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีได้เสด็จมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 และนายกรัฐมนตรีเยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการหลังจากเข้ารับตำแหน่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 และ นรม. เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีครั้งล่าสุดในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู เมื่อ 13-15 มกราคม 2550

brunei_king
ไทยและบรูไนได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน คือ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-บรูไน ซึ่งมีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ฯ เป็นประธานการประชุมร่วม ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทหาร การค้า การลงทุน (รวมทั้งการประมง อุตสาหกรรม ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) แรงงาน ความร่วมมือด้านวิชาการ การท่องเที่ยว และ การสื่อสารและวัฒนธรรม ผลการประชุมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้มีความคืบหน้า นอกจากนี้ ไทยยังประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้บรูไนฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและร่วมมือกันจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2546 ในระหว่างการเยือนบรูไนฯ นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ และกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม General Meeting ครั้งที่ 15 ของสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council – PECC) ได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามในไทย ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การลงทุน โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน ร่วมลงทุน (Matching Fund) “กองทุนไทยทวีทุน” (ระหว่าง Brunei Investment Agency กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ความร่วมมือระหว่าง Royal Brunei Airlines กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และความร่วมมือเอเชีย (ACD) รวมทั้งเรื่องธนาคารอิสลามแห่งบรูไน ฯ กับกองทุนไทยทวีทุนที่ได้ตกลงร่วมลงทุนในธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ไทยและบรูไน ฯ มีทัศนะทางด้านการทหารและความมั่นคงที่สอดคล้องกัน และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของกองทัพของทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับท่าทีของฝ่ายบรูไนฯ ต่อสถานการณ์การเมืองของไทยนั้น เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2549 เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ได้เข้าพบปลัดกระทรวงฝ่ายการเมือง กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของบรูไนฯ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย และไทยมีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเอง บรูไนฯ มีนโยบายไม่แทรกแซงและเคารพอำนาจอธิปไตย เอกราช และความมั่นคงของรัฐ และยินดีที่ได้ทราบว่าไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง อีกทั้งประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนั้น ยังได้กล่าย้ำว่า บรูไนฯ มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าไทยจะสามารถบริหารจัดการให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี หลังจากนั้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนบรูไน ฯ อย่างเป็นทางการ 

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

การค้า 
การค้ารวมระหว่างไทยกับบรูไน ฯ ในปี 2548 มีมูลค่าการค้ารวม 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.12 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นคู่ค้าลำดับที่ 56 ของไทย ไทยขาดดุลการค้ากับบรูไน ฯ 135.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาลทราย ปูนซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องจักรกล และ ส่วนประกอบเครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์
สินค้านำเข้าจากบรูไนฯ คือ น้ำมันดิบ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ธุรกรรมพิเศษ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ วัสดุทำจากยาง และสิ่งพิมพ์
สินค้าที่บรูไน ฯ ส่งออกมาไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ วัสดุทำจากยาง สิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์กระดาษ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

การลงทุน 
เอกชนของไทยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบรูไนฯ 3 ฉบับเมื่อวันที่ 27สิงหาคม 2545 ระหว่างการเสด็จ ฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่
– Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Government Pension Fund of Thailand
– Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang di-Pertuan of Brunei Darussalam and Chia Meng Group
– Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Biz Dimension Co. Ltd.

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 Brunei Investment Agency (BIA) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้ร่วมลงนามในสัญญาจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) ในชื่อกองทุนไทยทวีทุน (Thailand Prosperity Fund – TPF) โดยมีวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถเพิ่มวงเงินได้ไม่เกิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กบข. ลงทุนประมาณ 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 33 ของวงเงินทั้งหมด และ BIA ลงทุนประมาณ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 67 ของวงเงินทั้งหมด

กองทุนไทยทวีทุนมีระยะเวลาลงทุน 8 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการลงทุนทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) รวมทั้งมีบริษัทหลักทรัพย์ที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะแปรรูป ทั้งนี้ กองทุนไทยทวีทุนได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ING (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้จัดการกองทุน

นอกจากนั้น BIA และ กบข. ยังได้ร่วมลงทุน (joint venture) จัดตั้งบริษัท Thai Prosperity Advisory จำกัด (TPA) เพื่อเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางเทคนิคให้กับกองทุนไทยทวีทุน โดย กบข. และ BIA มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 59 และ 41 ตามลำดับ

สืบเนื่องจากการหารือทวิภาคีระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีและนายกรัฐมนตรีระหว่างการเสด็จฯ เยือนไทยของสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2545 ธนาคารอิสลามแห่งบรูไนฯ ได้ตกลงร่วมลงทุนในธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยตามข้อเสนอของไทย โดยถือหุ้นร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด (คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 104.53 ล้านบาท) และกองทุนไทยทวีทุนถือหุ้นอีกร้อยละ 15

บริษัทไทยที่ลงทุนในบรูไนฯ คือบริษัท Brunei Construction ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ไม่มีบริษัทที่เป็นของคนไทยล้วน ๆ ในบรูไนฯ การทำกิจการต่าง ๆ จะต้องมีคนบรูไนฯ เป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจของคนไทยในบรูไนฯ จะเป็นร้านขายของ ร้านอาหาร และอู่ซ่อมรถ เป็นต้น

• การท่องเที่ยว เมื่อปี 2548 มีนักท่องเที่ยวจากบรูไน ฯ เดินทางมาไทยจำนวน 9,499 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 (9,345 คน) ร้อยละ 1.65 ทั้งนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวบรูไน ฯ จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงและมีศักยภาพที่จะเพิ่มจำนวนอีกได้ ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปบรูไน ฯ นั้น เมื่อปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 9,645 คน ลดลงจากปี 2547 (11,331 คน) ร้อยละ 14.88 โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 0.32

• แรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานไทยในบรูไน ฯ ประมาณ 9,500 คน ส่งรายได้กลับประเทศไทยประมาณปีละ 91,200,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานในกิจการก่อสร้าง อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก นอกนั้น ทำงานในภาคธุรกิจบริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร การตกแต่งดูแลดอกไม้ประดับในวังและสถานที่สำคัญ ช่างซ่อม และงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับอย่างดีจากนักธุรกิจในบรูไน ฯ เพราะมีความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน หมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบแม้จะด้อยในเรื่องภาษา อย่างไรก็ดี ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิ อัตราค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำงาน และการขาดความรู้และความเข้าใจต่อกฎระเบียบ ข้อบังคับของสัญญาจ้าง

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

• ด้านวัฒนธรรม ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับบรูไน ฯ ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2546 เห็นพ้องในการขยายความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ ในโอกาสฉลองการครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-บรูไน ฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬาบรูไน ฯ จัดกิจกรรม Thailand Festival 2003 โดยมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม นำคณะนาฏศิลป์และนักดนตรีไปแสดงวัฒนธรรมที่บรูไน ฯ เมื่อวันที่ 23 – 26 พฤษภาคม 2546

• ด้านวิชาการ ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม ทั้งโดยทุนรัฐบาลไทยและบรูไนฯ ประมาณ 50 คน มีนักศึกษามุสลิมที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับทุนจากทางการบรูไนฯ ให้มาเรียนทางด้านรัฐศาสตร์และการศาสนาประมาณ 20 คน ซึ่งมีทั้งหญิงและชาย แต่ก็มีนักศึกษาหลายคนที่บริษัทเอกชนในประเทศไทย อาทิ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยส่งไปเรียนวิชาทั่วไป ซึ่งในปี 2549 ไทยได้ให้ทุนการศึกษาแก่บรูไนฯ 1 ทุน ได้แก่ Thai Language Learning among ASEAN Diplomats และรัฐบาลบรูไนฯ ได้ตกลงจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนจากประเทศพันธมิตรอาเซียน ประเทศละ 2 ทุน รวม 18 ทุน

• ด้านข้อมูลข่าวสาร ในระหว่างการเยือนบรูไน ฯ อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและบรูไนฯ ได้ร่วมลงนามใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านสารสนเทศและการกระจายเสียงและภาพระหว่าง ไทย-บรูไน ฯ (Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang Di-Pertuan of Brunei Darussalam and the Government of the Kingdom of Thailand on Cooperation in the Field of Information and Broadcasting) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนรายการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีสาระ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ปัจจุบัน ได้มีการดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว โดยมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-บรูไน ฯ (Joint Technical Committee on Information and Broadcasting ) มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 – 23 มิถุนายน 2547 ณ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศได้จัดกิจกรรมร่วมด้านวัฒนธรรมเป็นระยะ ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ได้มีการจัดงานแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและ สถานีวิทยุบรูไน ฯ ครั้งที่ 3 ณ กาดเธียเตอร์ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย

– ความตกลงทางการบิน (ลงนามเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530)
– บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-บรูไนฯ (ลงนามเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542)
– บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านสารสนเทศและการกระจายเสียงและภาพระหว่างไทย-บรูไนฯ (ลงนามเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544)
– พิธีสารว่าด้วยการเปิดเสรีด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547)

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์
– เมื่อวันที่ 7 – 14 กันยายน 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ เยือนบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 4 – 6 ตุลาคม 2535 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จ ฯ แทนพระองค์เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีรัชดาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดี

รัฐบาล
– เมื่อวันที่ 19 – 20 มีนาคม 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2541 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 14 – 15 กรกฎาคม 2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบรูไน ฯ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2544 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไน ฯ อย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2546 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบรูไน ฯ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2546 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไน ฯ เพื่อเป็น Keynote Speaker ของการประชุม General Meeting ครั้งที่ 15 ของสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council – PECC)
– เมื่อวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2547 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีเยือนบรูไน ฯ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 9 – 10 กันยายน 2547 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี เยือนบรูไน ฯ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารแห่งบรูไน ฯ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย
– เมื่อวันที่ 18 – 19 พฤษภาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบรูไน ฯ อย่างเป็นทางการ
– เมื่อวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบรูไน ฯ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2549 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไน ฯ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ
– เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนบรูไน ฯ อย่างเป็นทางการ

ฝ่ายบรูไน ฯ
พระราชวงศ์
– เมื่อวันที่ 1 – 4 พฤศจิกายน 2531 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
– เมื่อวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2541 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในลักษณะ Working Visit
– เมื่อวันที่ 21 – 25 พฤษภาคม 2543 มกุฎราชกุมารบรูไน ฯ เสด็จ ฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลไทย
– เมื่อวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2545 สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และพระมเหสีแห่งบรูไน ฯ เสด็จ ฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ
– เมื่อวันที่ 16 – 18 เมษายน 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีและเจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ฯ เสด็จ ฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ โดยเป็นแขกของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
– เมื่อวันที่ 11- 14 มิถุนายน 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งบรูไนฯ ได้เสด็จฯ มาร่วมพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัฐบาล
– เมื่อวันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมประชุม ASEAN-UN Summit ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุม UNCTAD X
– เมื่อวันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 2543 เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ฯ เสด็จ ฯ เยือนไทยเพื่อร่วมประชุม AMM/PMC ครั้งที่ 33
– เมื่อวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2545 เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ฯ เสด็จ ฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers Retreat) ที่จังหวัดภูเก็ต
– เมื่อวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2546 เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ฯ เสด็จ ฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไทย-บรูไนฯ ครั้งที่ 1
– เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2546 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน และผู้นำอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ
– เมื่อวันที่ 20 – 21 ตุลาคม 2546 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11
– เมื่อวันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ 2549 นายลิม จ็อก เส็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า คนที่ 2 ของบรูไนฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียน ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ

กองเอเชียตะวันออก 1
17 มีนาคม 2550

เชิญแสดงความคิดเห็น