การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

0

ประเทศบรูไน ดารุสสลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527     การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศบรูไนนั้น มีปัจจัยที่สนับสนุนอาจแยกได้เป็น 2 ประการ คือ

1)    ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ แม้บรูไนจะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อพิจารณาในแง่การพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ว่าการที่บรูไนเข้าร่วมในสมาคมอาเซียนจะยังประโยชน์ให้แก่บรูไนเป็นอย่างมาก เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มีความพร้อมในเรื่องเศรษฐกิจสูงกว่าบรูไน สำหรับในด้านการเมืองและความมั่งคงนั้น บรูไนมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า หลักการเกี่ยวกับการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (non-interference) ของอาเซียน จะเป็นเครื่องค้ำประกันเสถียรภาพของบรูไนจากการแทรกแซงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้

2)    ด้านสถานภาพในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ถือเป็นการยกฐานะของประเทศในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่บรูไนเป็นรัฐขนาดเล็กและเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างสถานภาพและความเชื่อถือขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และการเข้าร่วมกับอาเซียนนั้นก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มบทบาทและชื่อเสียงของบรูไนให้เป็นที่รู้จักกันในวงการเมืองระหว่างประทศได้อย่างกว้างขวาง

 

บทบาทของบรูไนในอาเซียน

เมื่อพิจารณาในด้านผลประโยชน์ที่อาเซียนจะได้รับจากบรูไน จะพบว่าอาเซียนได้ผลประโยชน์จากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ได้จากทรัพยากรน้ำมันของบรูไนตามสมควร โดยในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชีย (2540) บรูไนได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยได้ให้ความช่วยเหลือการแทรกแซงตลาดการเงินภายในภูมิภาคด้วยการระดมทุนจากภายนอกประเทศ ในการซื้อเงินสกุลริงกิตมาเลเซียและเหรียญสิงคโปร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค รวมถึงได้แสดงเจตจำนงที่จะมุ่งเน้นนโยบายการลงทุนสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น และยังได้ให้การช่วยเหลือประเทศอินโดนีเซีย และไทยในลักษณะการให้กู้ยืมเงินเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความพยายามในการช่วยเหลือประเทศในกลุ่มอาเซียนดังกล่าว ได้เพิ่มบทบาทของบรูไนในอาเซียนมากขึ้น และเป็นการสร้างหลักประกันความมั่งคงให้กับบรูไนอีกทาง

เนื่องจากบรูไนเป็นประเทศเล็ก ศักยภาพทางการเมืองและอำนาจต่อรองทางการเมืองไม่สูง ดังนั้น บรูไนจึงมีความพยายามในการเสริมสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่งคงระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นความเป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้น จากเดิมที่มักให้ความสำคัญกับชาติตะวันตกอย่างอังกฤษเจ้าอาณานิคม

สำหรับด้านการเมือง การที่อาเซียนมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเท่ากับเพิ่มน้ำเสียงของอาเซียนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้หนักแน่นขึ้น ยิ่งกว่านั้น นอกจากบรูไนจะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจด้วยทรัพยากรน้ำมันแล้ว บรูไนยังเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ อาทิ กลุ่มประเทศเครือจักรภพและองค์การที่ประชุมอิสลาม เป็นต้น จึงมีช่องทางที่จะโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกองค์การต่างๆ เหล่านี้คล้อยตามอาเซียนได้ไม่อยากนัก ดังนั้น การสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของบรูไนจึงเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ทั้งบรูไนและอาเซียน

ในด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศบรูไนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ที่เมืองบันดาร์ เสรี เบกาวัน โดยผู้นำบรูไนได้ประนามการก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ พร้อมได้ร่วมลงนามในปฏิญญาการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้ายร่วมกัน โดยเป็นความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายอย่างรอบด้าน และเพื่อที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดจากภัยคุกคาม ความร่วมมือนี้ได้จะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคง ถือเป็นปัจจัยต่อการพัฒนา และความมั่งคั่งยิ่งขึ้นในอาเซียน

เชิญแสดงความคิดเห็น