ชวนร่วมงาน “ประเพณีปอยส่างลอง” ประเพณีดั้งเดิมชาวไทยใหญ่

0

557000003577201

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอนชวนร่วมงาน “ประเพณีปอยส่างลอง” ในวันที่ 1 – 9 เมษายน 2557 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

โดยงานดังกล่าวเป็นการบรรพชาสามเณรหมู่ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวไต (ไทยใหญ่) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีของชาวไตที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปี ชี้ให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของชุนท้องถิ่น ตลอดจนการสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามให้สืบไปชั่วลูกชั่วหลานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) นับได้ว่ามีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไตอย่างแท้จริง รวมถึงพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทำให้ประเพณีปอยส่างลองได้รับความสนใจจากท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางเข้ามายังจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกับการร่วมทำบุญไปพร้อมๆ กัน ด้วยการจัดงานประเพณีปอยส่างลองในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยมีกำหนดการจัดงานในพื้นที่หลัก ดังนี้ วันที่ 1 – 4 เมษายน 2557 (ขบวนแห่วันที่ 3 เมษายน 2557) ณ วัดป่าขาม อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 3 – 6 เมษายน 2557 (ขบวนแห่วันที่ 5 เมษายน 2557) ณ วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 6 – 9 เมษายน 2557 (ขบวนแห่วันที่ 8 เมษายน 2557) ณ วัดดอนเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

สำหรับวันแรก เรียกว่า “วันรับส่างลอง” โดยในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วย เข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่างๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปากสีแดงและสวมถุงเท้าสีขาวถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีล ให้พรอบรมสั่งสอน จากนั้น “ตะแป่ส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ นำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกั้นบังแดดให้ส่างลอง

วันที่สอง เรียกว่า “วันแห่ครัวหลู่” เป็นวันแห่เครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดปางล้อไปตามถนนสายต่างๆ ในช่วงเช้ามีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะ เป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง ” มีกลดทองหรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตที่วัดต่างๆ

วันที่สาม เรียกว่า “วันข่ามส่าง” หรือวันหลู่ เป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงอาหารไต แก่ผู้ที่มาร่วมงาน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

ขอขอบคุณ www.manager.co.th

เชิญแสดงความคิดเห็น